ปวดหัวบ่อยไม่ทราบสาเหตุ อย่าชะล่าใจ! ควรไปพบแพทย์
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
อาการปวดหัวนับว่าเป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักซื้อยาแก้ปวดกินเองเพราะสะดวกกว่าการมาพบแพทย์ โดยทั่วไป เราสามารถ แบ่งสาเหตุของการปวดหัวได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ไม่ได้มีรอยโรคในสมอง เช่น ไมเกรน กล้ามเนื้อรอบ ๆ ศีรษะตึงตัวหรือจากความเครียด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดหัว แม้ว่าจะรบกวนชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อันตราย หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาให้ทันเวลา
ปวดหัวแบบไหนควรไปพบแพทย์ ?
โดยทั่วไปอาการปวดหัวของกลุ่มที่มีรอยโรคในสมองมักมีลักษณะที่แตกต่างกับกลุ่มไม่มีรอยโรค ซึ่งจะมีอาการปวดดังนี้
- อาการปวดเด่นช่วงเช้าหลังตื่นนอน
- อาการปวดที่ทำให้ต้องตื่นกลางดึก
- อาการปวดที่แรง และถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ
- อาการปวดที่เริ่มครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี
- อาการปวดที่ปวดมากขึ้นเวลา ไอ จามหรือเบ่ง
- อาการปวดที่ปวดขึ้นมาทันทีทันใด (ไม่ใช่ค่อย ๆ แรงขึ้น) และแรงเหมือนศีรษะจะระเบิด
- มีอาการความผิดปกติของระบบประสาทอื่นร่วมด้วย เช่น ปากเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง มองเห็นภาพซ้อน
- อาการปวดในคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มะเร็ง หรือ การติดเชื้อ เอชไอวี
ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวตามลักษณะข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการดังกล่าว ซึ่งการตรวจวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับประวัติลักษณะการปวดหัวของผู้ป่วยแต่ละคน สามารถทำได้โดยการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และอาจใช้การเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น
ทำไมเครื่อง MRI จึงวิเคราะห์อาการทางสมองได้อย่างตรงจุด
การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า MRI เป็นการตรวจที่ใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็ก สร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้รังสีเอกซเรย์ในการทำให้เกิดสัญญาณการสร้างภาพตามระนาบได้ทั้งแนวขวาง แนวยาวและแนวเฉียง เป็น 3 มิติ ภาพถ่ายที่ได้จึงมีความคมชัดสูง มีความใกล้เคียงกับอวัยวะจริงมากที่สุด แพทย์จึงเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน และมีความแม่นยำสูง
ทั้งนี้ เครื่อง MRI จะแสดงภาพระบบอวัยวะครั้งละระบบ เช่น การตรวจสมอง จะแสดงภาพของเนื้อเยื่อสมอง และอวัยวะอื่น ๆ บริเวณสมอง โดยการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ จึงสามารถดูได้ทุกระนาบโดยไม่ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยไม่ได้รับรังสีเอกซเรย์ และไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ
ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวอยู่บ่อย ๆ อย่าชะล่าใจคิดว่าเป็นเพียงแค่อาการปวดธรรมดา กินยาแล้วเดี๋ยวก็หาย ทางที่ดีควรมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างตรงจุด เพราะสาเหตุของอาการปวดหัวเกิดจากหลายปัจจัย หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุคงไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท