ฝีในสมอง โรคอันตรายที่ใครก็เป็นได้

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

ฝีในสมอง โรคอันตรายที่ใครก็เป็นได้

โรคฝีในสมอง เป็นที่ภัยร้ายแรงแต่พบไม่บ่อยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งรุกรานโดยตรงหรือโดยอ้อม ทำให้มีอาการไข้สูง ปวดหัวในระยะแรกๆ หลายคนจึงละเลย และมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฝีในสมองที่มีขนาดใหญ่กดทับบริเวณเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยเสียการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ถ้าหากทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ยอมไปตรวจและการรักษาผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตในที่สุด โรคฝีในสมองเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนจึงขอแนะนำให้ตรวจเพื่อหาสาเหตุหากมีอาการของโรคฝีในสมองเกิดขึ้น


โรคฝีในสมอง เป็นอย่างไร?

โรคฝีในสมอง (Brain abscess) คือ ภาวะการติดเชื้อที่สามารถเกิดขึ้นได้จากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการอักเสบที่สมองมีลักษณะการก่อตัวของเชื้อเป็นฝี หนอง ในเนื้อสมอง ที่สามารถส่งผลต่ออาการผิดปกติของระบบประสาท และสามารถอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้หากเกิดการแตกของฝีในสมอง


โรคฝีในสมอง เกิดจากอะไร?

ฝีในสมองเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่แพร่กระจายเข้าสู่สมองผ่านทางบาดแผลบริเวณศีรษะหรือจากการติดเชื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดเป็นหนองสะสมภายในสมอง โดยมีสาเหตุดังนี้

  • การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณอวัยวะใกล้กับศีรษะโดยเฉพาะการอักเสบติดเชื้อของหูและโพรงไซนัส
  • การติดเชื้อจากการที่ได้รับเชื้อโดยตรง ส่วนมากจะมาจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดที่สมองและเกิดการติดเชื้อหลังจากที่ผ่าตัด
  • การติดเชื้อจากอวัยวะอื่น และลามเข้าสู่กระแสเลือดสุดท้ายแพร่มาที่สมองทำให้เกิดฝีที่สมอง
  • การติดเชื้อจากอวัยวะต่างๆ ที่ใกล้เคียงสมอง เช่น จากหู ฟัน แผลที่ศีรษะและใบหน้า และมีเชื้อหลุดลอดเข้าสู่สมองจนเกิดฝีที่สมอง
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อมในสมองอยู่แล้ว เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคนี้มากขึ้น
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จะมีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคนี้มากกว่าปกติ

อาการของโรคฝีในสมอง

  • อาเจียน
  • คอแข็งเกร็ง มักพบร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ชัก
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดวงตาไวต่อแสง มองเห็นเป็นภาพเบลอหรือภาพซ้อนกัน มองเห็นเป็นสีเทา เป็นต้น
  • ภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น รู้สึกสับสนมากขึ้น มีการตอบสนองหรือกระบวนการคิดที่ช้าลง ไม่มีสมาธิ ฉุนเฉียวง่าย ง่วงซึม
  • ความรู้สึกตัวลดลง
  • มีปัญหาในการพูด พูดไม่ชัด


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคฝีในสมอง?

เบื้องต้นแพทย์จะพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น ประวัติทางสุขภาพ ตรวจหาการติดเชื้อผ่านการตรวจเลือด และตรวจร่างกายทางระบบประสาท ร่วมกับการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจจากภาพถ่ายด้วยการเอกซเรย์ การทำ CT Scan หรือ MRI Scan เพื่อช่วยให้เห็นภาพภายในสมองและตรวจหาจุดที่เป็นฝีได้อย่างชัดเจน การเจาะน้ำไขสันหลัง โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ นอกเหนือจากการติดเชื้อ รวมไปถึงการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจคลื่นสมองไฟฟ้า EEG เป็นต้น


โรคฝีในสมองจะรักษาได้อย่างไร?

ฝีในสมองรักษาได้ด้วยการรับประทานยาและการผ่าตัด ดังนี้

  1. การให้ยาต้านเชื้อที่ติด เป็นยาปฏิชีวนะในการต้านเชื้อแบคทีเรียหรือต้านเชื้อราผ่านเข้าทางเส้นเลือด เพื่อรักษาอาการติดเชื้อที่เป็นต้นเหตุของฝีในสมอง โดยวิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีฝีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร หรืออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดยาก มีอันตรายจากการผ่าตัดสูง เช่น ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีฝีร่วมด้วย ผู้ป่วยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำที่เคยเข้ารับการผ่าตัดใส่สายระบาย ผู้ป่วยเอดส์หรือติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นโรคท็อกโซพลาสโมซิส เป็นต้น
  2. การผ่าตัดเพื่อเอาฝีออก โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าพบว่าเป็นฝีสมองมักจะต้องทำการผ่าตัดระบายเอาหนองออก และให้ยาปฏิชีวนะ และหากฝีนั้นเป็นฝีในสมองที่เป็นโพรงเดี่ยว มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร ฝีที่อาจจะแตก แรงดันในสมองเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีอาการโดยรวมแย่ลง

ซึ่งการผ่าตัดฝีในสมองมีอยู่หลายวิธี โดยอาจเป็นการเจาะกะโหลกศีรษะและใส่สายระบายหนองออกมา การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ หรือการใช้เข็มดูดหนองที่อยู่ลึกลงไปในสมอง จากนั้นจะนำหนองที่ดูดออกมาส่งไปตรวจหาสาเหตุในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับเชื้อโรคมากที่สุด การให้ยายาปฏิชีวนะ ใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ จนฝีหาย โดยจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดเวลา

ผู้ป่วยที่เป็นฝีในสมองนั้น ไม่มีกลุ่มอาการที่จำเพาะเจาะจง ทั้งนี้อาการที่พบในผู้ป่วยฝีในสมองมักเป็นอาการที่เกิดจากการเสียหน้าที่ของสมอง อันอาจเกิดจากการทำลายเนื้อสมอง หรือการกดเบียดเนื้อสมองจากก้อนฝีภาวะสมองบวมที่เกิดจากฝีนั้นจะก่อให้เกิด การผิดปกติของการทำงานของสมอง และก่อให้เกิดภาวะความดันสูงในกะโหลกศีรษะ หากท่านมีอาการดังกล่าวให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการ และตำแหน่งของฝีในสมอง เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และนำไปสู่การรักษาอย่างเหมาะสม




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย