ภาวะ “ลองโควิด” กับผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา
ภาวะ “ลองโควิด” สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว นอกจากจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด และ อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทอีกด้วย เช่น เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบ สมองล้า และมีอาการสมาธิสั้น ทั้งนี้หลังจากหายป่วยโควิดแล้วหากมีอาการมึนงงสับสน ปวดศีรษะเรื้อรัง มีอาการอ่อนแรงหรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง ให้เข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย และทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาและอาการที่เกิดขึ้น
สารบัญ
เชื้อโควิด-19 ทำร้ายสมองอย่างไร
นอกจากเชื้อโควิด-19 จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด และ อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทอีกด้วย ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อโควิด-19 สามารถนำไปสู่ความเสียหายของเซลล์สมองแบบเฉียบพลันได้ ในช่วงเกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยไอซียู หรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของร่างกายของผู้ป่วยหลายๆ อย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท ตั้งแต่การมีไข้สูง ไปจนถึงการที่ร่างกายมีระดับออกซิเจนอยู่น้อยเกินไป ซึ่งทำให้ระบบอวัยวะทั้งหมดของร่างกายล้มเหลว หรือไม่ทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ
การที่ระบบภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วย เกิดทำงานมากเกินไป ด้วยเจตนาที่จะยับยั้งและทำลายเชื้อไวรัส จนก่อให้เกิดอาการอักเสบผิดปกติขึ้นกับระบบประสาทหรือสมอง รวมทั้งการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดอาการตีบ ตัน ของเส้นเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อสมองหรือระบบประสาททันที
“ลองโควิด” กับอาการทางสมองและระบบประสาท
เมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้วอาการอักเสบผิดปกติขึ้นกับระบบประสาทหรือสมอง หรือเกิดอาการตีบ ตัน ของเส้นเลือดในสมองในช่วงของการติดเชื้อโควิด จะมีผลทำให้มีอาการหลงเหลืออยู่ได้ เนื่องจากระบบประสาทหรือสมองนั้นไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้เหมือนดังเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนงงสับสน เกิดภาวะสมองล้า การสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น และภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน มีอาการอ่อนแรงหรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด เป็นต้น
เช็คสัญญาณเตือนอาการลองโควิดทางสมอง
ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว หากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าว หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ควรเข้าพบแพทย์
- ปวดศีรษะ
- มึนงงสับสน
- มีอาการซึม
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย หรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง
- หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด
- ไม่ได้กลิ่น รับรสไม่ได้
- มีปัญหาเรื่องความจำ เช่น ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ จำรหัสผ่านโทรศัพท์ไม่ได้ เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิดด้านสมอง
ภาวะลองโควิด (LONG COVID) สามารถเกิดได้กับผู้ที่ติดเชื้อทุกคน ทั้งที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ความเสี่ยงของกลุ่มที่จะเกิดภาวะลองโควิดที่จะส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทได้มากขึ้น ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขณะติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยไอซียู
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ระดับดัชนีมวลกาย (Body mass index) หรือ BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
เมื่อมีอาการลองโควิดทางสมองต้องทำอย่างไร
หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านสองและระบบประสาท ทำการตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย และตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI+MRA+MRV) พร้อมทั้งการทำแบบทดสอบเพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้การรักษาตรงกับปัญหาและอาการที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว การตรวจติดตาม หรือเช็คสุขภาพร่างกายหลังอาการป่วยเป็นสิ่งสำคัญ และหากมีอาการดังกล่าวหลังจากหายป่วยไม่ว่าจะเป็นเดือนแล้วก็ตาม ให้รีบเข้ามาพบแพทย์ทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท