ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (Gastrointestinal bleeding) เป็นภาวะที่มีเลือดออกตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงลําไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อย เกิดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ทั่วไปพบในวัยผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป และเกิดขึ้นได้อย่างทั้งแบบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง (พบได้น้อยกว่า) โดยสาเหตุของอาการมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด การรับประทานอาหาร การขับถ่าย หากใครที่มีอาการผิดปกติ เช่น อาเจียนเป็นเลือดเนื่องจากถูกกรดในกระเพาะ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด หรือบางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเลือดออกในทางเดินอาหาร อย่านิ่งนอนใจ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้


ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนคืออะไร

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน คือ ภาวะที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนบน อย่างหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ที่ทำให้อาเจียนปนเลือดออกมา ผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงระดับที่รุนแรง หากมีปริมาณเลือดออกน้อยก็อาจไม่พบความผิดปกติในระยะเริ่มแรก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา


อาการของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

  • อาเจียนเป็นเลือด สาเหตุที่สำคัญพบบ่อยมาจาก แผลในกระเพาะอาหาร รองลงมาคือ แผลในลําไส้เล็กส่วนต้น บางครั้งเมื่อเลือดโดนกับกรดในกระเพาะอาหาร ก็จะออกสีน้ำกาแฟ
  • ในบางรายจะมีการถ่ายเป็นอุจจาระสีดำ เปียก เหนียว เหมือนยางมะตอย กลิ่นเหม็นรุนแรง ซึ่งบางครั้งเกิดร่วมกับอาเจียนเป็นเลือด
  • อาการร่วมทั่วไป อาจคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้องช่วงบนเหนือระดับสะดือ ถ่ายเลือดออกมากจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วและเบา เป็นลม หมดสติได้

มีอาการมากเท่าไรจึงควรไปพบแพทย์

อาเจียนออกมาเป็นสีแดงหรือสีดำคล้ายกากกาแฟ อุจจาระเป็นสีดำ มีอาการปวดท้อง และหากมีเลือดออกปริมาณมากจะมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง และซีดร่วมด้วย ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เนื่องจากหากมีเลือดออกเป็นปริมาณมากอย่างเฉียบพลัน อาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ไม่ปัสสาวะเลยหรือปัสสาวะในปริมาณเพียงเล็กน้อย ชีพจรเต้นเร็ว และหมดสติ จนนำไปสู่ภาวะช็อกได้


อาการแทรกซ้อนจากภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

ภาวะแทรกซ้อนจากเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน เช่น โลหิตจาง ไตวาย ภาวะช็อกหากเลือดออกมาก และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที


สาเหตุของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

โดยทั่วไปแล้วอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI tract) ประกอบไปด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลําไส้เล็กตอนบน ในขณะที่ทางเดินอาหารส่วนล่าง (Lower GI tract) ประกอบไปด้วย ลําไส้เล็กตอนล่าง ลําไส้ใหญ่ลงมาจนถึงทวารหนัก ซึ่งอวัยวะทั้งหมดของทั้ง 2 ส่วนนี้ สามารถเกิดภาวะเลือดออกได้เสมอ ทั้งจากปัจจัยด้านความเครียด การรับประทานอาหาร รวมถึงการขับถ่าย


สาเหตุของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ได้แก่

  • แผลในกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุหลักของ UGIB โดยแผลที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) กรดในกระเพาะอาหาร รวมไปถึงการรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาต้านเกร็ดเลือด เช่น แอสไพริน ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด เป็นต้น
  • แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดจากการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกิน ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นมา
  • หลอดอาหารมีความผิดปกติ เช่น เส้นเลือดดำที่หลอดอาหารโป่งพองแตกออก จึงทำให้มีเลือดออกได้
  • เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ป่วยโรคตับที่รุนแรง โดยเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารอาจส่งผลให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้เช่นกัน

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนและภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่างเป็นอย่างไร)

โดยทั่วไปแล้วภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  • ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (UGIB) ประกอบไปด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลําไส้เล็กตอนบน ส่วนใหญ่จะมักมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ในบางรายจะมีการถ่ายเป็นอุจจาระสีดำ เปียก เหนียว เหมือนยางมะตอย กลิ่นเหม็นรุนแรง ซึ่งบางครั้งเกิดร่วมกับอาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น
  • ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง (LGIB) ประกอบไปด้วย ลําไส้เล็กตอนล่าง ลําไส้ใหญ่ ลงมาจนถึงทวารหนัก โดยมักมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดๆ หรืออาจไม่มีอาการชัดเจน แต่มาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ เช่น ซีด อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม เหนื่อยง่าย เป็นต้น

ซึ่งอวัยวะทั้งหมดของทั้ง 2 ส่วนนี้ สามารถเกิดภาวะเลือดออกได้เสมอ ทั้งจากปัจจัยด้านความเครียด การรับประทานอาหารและยา รวมถึงการขับถ่าย เป็นต้น


การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

การซักประวัติและตรวจร่างกาย จะช่วยชี้ว่าเลือดน่าจะออกจากส่วนใดในทางเดินอาหารส่วนบน และอาจตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัย อาทิ

  • การตรวจเลือด เพื่อดูการแข็งตัวของเลือด เกล็ดเลือด และการทำงานของตับ
  • การตรวจอุจจาระ เพื่อช่วยยืนยันว่ามีเลือดออกภายในทางเดินอาหาร
  • การส่องกล้องเพื่อตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy : EGD) เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติโดยการใช้กล้องส่องที่มีลักษณะยาว เล็กและโค้งงอ มีกล้องวิดีโอขนาดเล็กและหลอดไฟอยู่ส่วนปลาย ซึ่งจะมีการบันทึกวิดีโอและปรากฏบนหน้าจอ และในบางกรณียังสามารถทำการรักษา ด้วยวิธีการห้ามเลือดได้ในขณะที่ส่องกล้อง โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ และถ้าตรวจพบเนื้องอกก็ยังสามารถใส่เครื่องมือตัดชิ้นเนื้องอก นำออกมาตรวจเพิ่มเติมได้ด้วย
  • การตรวจหลอดเลือด โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่หลอดเลือดแดงของผู้ป่วยก่อนการเอกซเรย์ เพื่อตรวจหาเส้นเลือดที่มีเลือดออกหรือความผิดปกติต่างๆ
  • การตรวจ CT Scan หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้อง เพื่อตรวจหาจุดที่มีเลือดออกหรือความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหารส่วนบน

การรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

หากพบว่ารอยโรคมีแนวโน้มว่าจะทำให้เลือดออกอีก สามารถให้การรักษาได้ทันที ผ่านการส่องกล้อง และเพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นอันตรายที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำและผลิตภัณฑ์ของเลือด เพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไปและป้องกันหรือแก้ไขภาวะช็อก การใส่สายยางทางจมูก และการล้างกระเพาะอาหาร เพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนจริง จากนั้นจะพิจารณารักษาตามสาเหตุของการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ดังนี้

1. การรักษากรณีที่มีสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่หลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร จะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้ เช่น วิธีการรักษาโดยผ่านกล้องส่อง (endoscopic therapy) การฉีดอะดรีนาลิน (adrenaline) การฉีดสารสเคอโรแซนท์ (sclerosants) การใช้กาวไฟบริน (fibrin glue) การจี้โดยใช้ความร้อน (heater probe) เลเซอร์ (laser) การรักษาโดยการฉีดสารผ่านทางหลอดเลือด การรักษาโดยการผ่าตัด และการรักษาด้วยยาลดการหลั่งกรด ประกอบไปด้วยยากลุ่มต้านตัวรับฮีสตามีนทู ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปั้ม เป็นต้น

2. การรักษากรณีที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร เช่น การรักษาโดยการใส่บอลลูนกด (ballon temponade) การรักษาโดยผ่านการส่องกล้อง ด้วยการรัดยาง การเปิดเส้นเลือดลัดภายในตับ เป็นต้น


การป้องกันภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

การป้องกันภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจเป็นความเสี่ยง เช่น งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงจำกัดการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อย่างยากลุ่มเอ็นเสด เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนได้ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเป็นกรดไหลย้อนอยู่ก่อนก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาภาวะดังกล่าวจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารตามมาภายหลัง

อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติต่อร่างกาย เช่น ถ่ายอุจจาระมีสีเปลี่ยนไป สีคล้ำ หรือดำผิดปกติ หรือมีอาการอ่อนเพลีย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เสียเลือดจนร่างกายช็อกและเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย