“ยาละลายลิ่มเลือด” รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา
ภาวะสมองขาดเลือด เกิดขึ้นเมื่อเลือดที่จ่ายไปยังสมองส่วนต่างๆ ถูกขัดจังหวะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือด ซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง เนื้อสมองก็จะเริ่มตาย ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าเห็นคนในบ้านหรือผู้ใหญ่ มีอาการอ่อนแรง แขนขาชาครึ่งซีก ปากหรือหน้าเริ่มเบี้ยว เหมือนจะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดอย่างทันท่วงที
สารบัญ
รู้จัก...ยาละลายลิ่มเลือด
ยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ก้อนเลือด หรือลิ่มเลือดที่แข็งตัว บล็อกเส้นทางการไหลของเลือดสลายตัวและละลายไป ช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปยังบริเวณที่เคยมีการอุดกั้นของลิ่มเลือดได้อีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้เลือดสามารถวิ่งไปเลี้ยงสมองได้เป็นปกติ และหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ได้รับผลกระทบ
การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเหมาะกับใคร
การให้ยาสลายลิ่มเลือด โดยปกติจะใช้รักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดเฉียบพลัน อายุมากกว่า 18 ปี มีขนาดของสมองขาดเลือดไม่ใหญ่เกิน 1 ใน 3 ของสมองครึ่งซีก รวมทั้งผู้ป่วยจะต้องมาถึงโรงพยาบาลไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ที่สำคัญไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด และผู้ป่วยหรือญาติเห็นประโยชน์มากกว่าข้อเสีย และตัดสินใจให้รักษาด้วยวิธีนี้ โดยแพทย์จะทำการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือด หรือก้อนไขมันที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออก ส่งผลให้หลอดเลือดที่อุดตันนั้นกว้างขึ้น ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
ข้อดีของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
- เนื้อสมองส่วนที่ขาดเลือดฟื้นตัว
- ลดอัตราความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต
- ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง
ข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน มีภาวะสมองขาดเลือดที่มาทันเวลา 4.5 ชั่วโมงนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมตามหลักทางการแพทย์ และในกรณีต่อไปนี้ มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันที่ไม่ทราบเวลาที่เริ่มเป็นอย่างชัดเจนหรือมีอาการภายหลังตื่นนอน มีอาการเลือดออกใต้ชั้นเนื้อเยื่อหุ้มสมอง มีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะภายใน 21 วัน มีประวัติผ่าตัดใหญ่ภายใน 14 วัน ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก ความดันโลหิตสูง มีอาการชัก ภาวะตับวาย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ อุบัติเหตุที่รุนแรงต่อศีรษะ พบเลือดออกหรือมีการบาดเจ็บ กระดูกหักจากการตรวจร่างกาย พบการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกของหลอดเลือดสมองตีบขนาดใหญ่ เช่น พบสมองบวม รวมถึงภาวะอื่นๆ ที่มีโอกาสเลือดออกง่ายในอวัยวะที่สำคัญ และไม่สามารถหยุดห้ามเลือดได้ ก็ไม่ควรให้ยาละลายลิ่มเลือด
เช็คสัญญาณเตือนของภาวะหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน
หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีสัญญาณเตือนของภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือตันเฉียบพลัน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที ซึ่งมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกหรือทั้ง 2 ข้าง
- พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
- ปากเบี้ยว
- การรับฟังบกพร่องหรือฟังไม่เข้าใจ
- เวียนศีรษะ ร่วมกับเดินเซ ทรงตัวไม่อยู่
- ตามัว มองเห็นภาพซ้อน
- ซึม ไม่รู้สึกตัวทันที
สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน ที่ผ่านการรักษาโดยแพทย์จนพ้นวิกฤติแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาและหยุดยาเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากยา หรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นซ้ำอีกได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท