รักษามะเร็งตับด้วยเคมีบำบัดผ่านทางการอุดหลอดเลือด
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
การรักษามะเร็งตับด้วยเคมีบำบัดผ่านทางการอุดหลอดเลือด (Transarterial Chemo Embolization: TACE) เป็นการรักษามะเร็งตับอีกวิธีหนึ่งในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยการรักษาด้วยวิธีการให้เคมีบำบัดเฉพาะทางที่ผ่านทางหลอดเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับโดยตรง แล้วอุดกั้นหลอดเลือดนั้นเพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก การรักษาด้วยวิธีนี้ จะช่วยลดขนาดและความรุนแรงของโรค ลดความเจ็บปวด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดร่วมด้วย
สารบัญ
การรักษามะเร็งตับด้วยเคมีบำบัดผ่านทางการอุดหลอดเลือด
โดยปกติเซลล์ตับจะถูกหล่อเลี้ยงด้วยเส้นเลือดดำจากระบบทางเดินอาหาร แต่ก้อนมะเร็งที่ตับนั้นต่างออกไป เพราะจะมีการดึงเส้นเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงก้อนของมะเร็งให้เจริญเติบโต ซึ่งการให้สารเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปสู่ตับในบริเวณที่มีก้อนมะเร็งโดยตรงนั้น จะทำให้เกิดการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง มีผลทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง จนทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด
เกณฑ์พิจารณาการให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง
หากก้อนเนื้อมีขนาดเล็กกว่า 4-5 ซม. สามารถใช้วิธีจี้ด้วยความร้อน RFA แต่หากก้อนมีขนาดมากกว่านั้น ลุกลาม หรือมีหลายก้อน จะใช้การรักษา ด้วยเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางการอุดหลอดเลือด (TACE) แทน รวมไปถึงข้อบ่งชี้ดังนี้
- ก้อนมะเร็งยังไม่ลุกลามเข้าไปยังเส้นเลือดดำที่หล่อเลี้ยงตับ
- ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจาก เหลือพื้นที่ตับน้อยหรือมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง
- ต้องการลดขนาดก้อนเพื่อไปทำการผ่าตัดตับ หรือการเปลี่ยนตับ
- เพื่อการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการ ได้แก่ ช่วยลดอาการปวดเนื่องจากก้อนขนาดใหญ่ และการอุดหลอดเลือดแดงในกรณีมีการแตกของเส้นเลือดในตับ
ขั้นตอนการรักษามะเร็งตับด้วย TACE
การรักษามะเร็งตับด้วย TACE จะทำในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ Cath Lab โดยการใช้สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กประมาณไส้ปากกา (2-3 มม.) สอดเข้าหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบ และอาศัยกระบวนการภายใต้เครื่องเอกซเรย์ที่เห็นภาพเคลื่อนไหวจากจอได้ตลอดเวลาเพื่อเคลื่อนสายสวนให้ขึ้นไปที่กลางลำตัว ต่อไปที่บริเวณตับและไปยังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตัวเนื้องอกโดยตรง แล้วจะฉีดยาเคมีบำบัดผ่านสายสวนเข้าไปที่ก้อนเนื้อมะเร็ง ขั้นตอนสุดท้ายจะฉีดสารอุดกั้นหลอดเลือดเพื่ออุดกั้นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้อมะเร็งให้ขาดเลือดและเซลล์เนื้อมะเร็งตาย เมื่อให้ยาเสร็จแล้ว แพทย์จะดึงสายสวนออกจากร่างกาย และกดตรงบริเวณขาหนีบประมาณ 10 นาที
ระหว่างทำการรักษา ผู้ป่วยจะถูกฉีดยาชาเล็กน้อยบริเวณขาหนีบ จะไม่มีการเจ็บปวดใดๆ โดยแผลที่เจาะหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบมีขนาดไม่ถึงครึ่งเซนติเมตร และใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน โดยหลังจากทำแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงบ้างเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีอาการจุกแน่นท้อง คลื่นไส้ มีห้อเลือดหรือเขียวช้ำบริเวณที่สอดสายเข้าหลอดเลือด
การเตรียมตัวก่อนการรักษา
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องเข้ามารับการเตรียมตัวที่โรงพยาบาลก่อน 1 วัน เพื่อเตรียมตัวดังนี้
- ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือด เพื่อดูความภาวะการทำงานของตับ ไต และการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด
- ก่อนรักษาต้องงดน้ำและอาหาร 6 ชม. และผู้ป่วยจะได้รับตรวจเลือดและเอกซเรย์อย่างละเอียด
- การเตรียมตัวเพื่อทำความสะอาดโกนขนบริเวณขาหนีบที่จะใส่สายสวน
- ผู้ป่วยจะได้รับการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำในวันที่ทำการตรวจ
การปฏิบัติตัวหลังการรักษา
หลังทำการรักษาแพทย์จะดึงสายสวนออก และทำการห้ามเลือดบริเวณขาหนีบ ผู้ป่วยจะต้องนอนราบบนเตียง และห้ามงอขาหนีบห้ามลุกนั่ง ห้ามเดินอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ภายหลังการตรวจ 2 ชั่วโมงถ้าไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้รับประทานน้ำ และอาหารได้ และอาจจำเป็นต้องต้องนอนพักเพื่อดูอาการอย่างน้อย 1 วันหลังการรักษา หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถกลับบ้านได้ เมื่อกลับบ้านผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรหักโหม งดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แอลกอฮอล์ และเข้ารับการตรวจประเมินผลการรักษาภายใน 4 สัปดาห์
ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีนี้ จะช่วยลดขนาดและความรุนแรงของโรค ลดความเจ็บปวด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น การตกเลือด จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวได้ การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือในกรณีที่มีก้อนมีขนาดใหญ่ หรือหลายตำแหน่ง อาจต้องรักษามากกว่า 1 ครั้ง และต้องมาตรวจตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ