รู้ทันโรคสมองเสื่อม...ป้องกัน รักษาอย่างทันท่วงที

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ

รู้ทันโรคสมองเสื่อม...ป้องกัน รักษาอย่างทันท่วงที

สัญญาณเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม (Dementia) นั้นอาจไม่ชัดเจนในทันที อาการโดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความทรงจำ แต่การสูญเสียความทรงจำเพียงอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นโรคสมองเสื่อม การสูญเสียความทรงจำอาจมีหลายสาเหตุ ซึ่งโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม อาการสมองเสื่อมบางอย่างอาจกลับเป็นซ้ำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล


เข้าใจโรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม (Dementia) คือ ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาท โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ ด้านสมาธิ ด้านการคิด ตัดสินใจ และการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านการเข้าสังคม ถ้าหากการทำงานของสมอง 1 ใน 6 ด้าน อย่างใดอย่างหนึ่งเสียไปหรือเสียมากถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย จะเรียกว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมบางรายไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ และบุคลิกภาพอาจเปลี่ยนไป ภาวะสมองเสื่อมมีความรุนแรงตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนถึงระยะรุนแรงที่สุด เมื่อบุคคลนั้นไม่สามารถทำกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้และจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น

> กลับสารบัญ


ประเภทของโรคสมองเสื่อม

  1. กลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจชะลอการดำเนินโรคได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด และกลุ่มภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia) ซึ่งเป็นอาการตามหลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดได้จากทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดสมองแตก เมื่อเวลาผ่านไปจะมีอาการสมองเสื่อมตามมา
  2. กลุ่มที่สามารถหยุดการดำเนินโรคหรือรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ การมีน้ำคั่งในโพรงสมองมากกว่าปกติ การมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะสมองเสื่อมจากการดื่มสุรา การขาดฮอร์โมน เกลือแร่ หรือวิตามินบางชนิด และการรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อภาวะสมองเสื่อม

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมมีหลากหลาย ตั้งแต่ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างกลุ่มผู้อายุที่มีอายุเกิน 65 ปี ขึ้นไป ส่วนปัจจัยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีดังนี้

  • โรคเบาหวาน โรคความดัน
  • ผู้ที่ชอบทำอะไรจำเจ ไปสถานที่เดิม ๆ มีกิจกรรมเดิม ๆ
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา
  • ผู้ที่ไม่เข้าสังคม ชอบอยู่คนเดียวเป็นกิจวัตร

> กลับสารบัญ


จะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม

  1. ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก อาจหยุดพูดกลางคันและไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรต่อ รวมถึงอาจพูดน้อยลง
  2. สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่ อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร
  3. ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น ลืมวิธีการเปลี่ยนช่องทีวี
  4. บกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
  5. บกพร่องในการบริหารจัดการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อยๆ
  6. บกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
  7. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

> กลับสารบัญ


วินิจฉัยอย่างไรว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

เบื้องต้นแพทย์จะมีการการตรวจร่างกาย และซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง พร้อมทั้งการทดสอบเพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้ (MoCa Test หรือ TMSE) รวมทั้งการตรวจพิเศษอื่นๆ ได้แก่

  • ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้ความจำถดถอย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง เกลือแร่ผิดปกติ เป็นต้น
  • การตรวจเอกซเรย์สมอง อาจเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)

> กลับสารบัญ


สมองเสื่อมรักษาได้ไหม

การรักษาโรคสมองเสื่อมนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก ได้แก่

  1. ผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทหรือเกิดจากโรคอัลไซเมอร์นั้น ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่มียาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลงได้ ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รวมทั้งการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/กระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนซึ่งเป็นการรักษาทางเลือก (Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) / Transcranial Direct Current Stimulation (TDCS) เพื่อเพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น
  2. ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก โดยการรับประทานยาบรรเทาอาการที่เกิดอาจเป็นยาประเภทเดียวกับยาที่ใช้ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ รวมทั้งเน้นไปที่การรักษาและการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ รวมทั้งการดูแลรักษาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด เช่น การรักษาความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูงและการรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดและยาต้านเกล็ดเลือดตามแพทย์สั่ง เป็นต้น
  3. การรักษาจากสาเหตุของโรคเป็นหลัก เช่น การมีน้ำคั่งในโพรงสมองทำให้สมองมีการขยายตัว อาจรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น

> กลับสารบัญ


วิธีป้องกันโรคสมองเสื่อม

ถ้าหากว่าไม่ใช้งานสมองเลย กล้ามเนื้อสมองก็จะเหี่ยว เล็ก และเสื่อมถอยลงไปในที่สุด เพราะฉะนั้นควรกระตุ้นสมองให้ทำงานทั้ง 6 ด้าน ด้วยการทำกิจกรรมฝึกสมองบ่อยๆ เช่น

  • ไม่ควรอยู่กับบ้านเฉยๆ ควรทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ
  • เรียนรู้ภาษาหรือสิ่งใหม่ๆ เช่น ภาษาที่สาม การทำอาหาร การเรียนศิลปะ
  • ร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น อาสาสมัคร ชมรมต่างๆ
  • ออกกำลังกาย แอโรบิค โยคะ เดินในที่อากาศโปร่ง
  • การตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้โรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคเดียวกับโรคอัลไซเมอร์ หากแต่โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุจากอัลไซเมอร์ จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ไม่เป็นที่สังเกต จนเมื่อผ่านไปราว 5-6 ปี ความผิดปกติต่างๆ จะแสดงออกมาชัดเจนขึ้น เช่น ไม่สามารถการอาบน้ำแต่งตัวได้เอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และจะเป็นมากขึ้นตามระยะอาการ หากมีอาการที่เข้าข่ายโรคสมองเสื่อมควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย