ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะลักษณะฟันที่มีปัญหาจากโครงสร้างขากรรไกร การสบฟันที่ผิดปกติ ปัญหาฟันบนยื่น ฟันล่างยื่น การเรียงของฟันไม่เป็นระเบียบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้การบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดกราม ฟันสึกไม่เท่ากัน โรคเหงือก ฟันผุ รวมไปถึงทำให้เกิดปัญหาใบหน้าเบี้ยวหรือใบหน้าไม่เท่ากันอีกด้วย ซึ่งการจัดฟันสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ฉะนั้นมาดูกันว่าลักษณะฟันแบบไหนควรเข้ารับการจัดฟันบ้าง
ลักษณะของฟันที่ควรได้รับการจัดฟัน
ปัญหาของฟันมีหลายรูปแบบ แต่ละคนก็จะมีปัญหาแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัญหาของการสบฟันที่ผิดปกติ (Malocclusions) ที่ควรได้รับการรักษาด้วยการจัดฟัน สามารถแบ่งได้ดังนี้
- ฟันยื่น (Protruded) แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
- ฟันหน้าบนยื่นหรือฟันเหยินลักษณะที่ฟันบนคร่อมฟันล่าง ซึ่งยื่นออกมาด้านหน้ามากเกินไป จนทำให้ปากอูม ทำให้การสบกันของฟันผิดปกติ มักเกิดจากปัญหาการเรียงตัวของฟันหรือแนวกราม หากมีฟันหน้าบนยื่นออกมามากอาจทำให้ฟันหน้าล่างกัดเหงือกจนเป็นแผลได้
- ฟันหน้าล่างยื่นเป็นลักษณะฟันล่างคร่อมฟันบน ผู้ที่มีปัญหาฟันล่างยื่นใบหน้าจะดูคางยื่น บางรายอาจมีปัญหาใบหน้าไม่เท่ากัน หรือเบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่ง เกิดการสบกันของฟันที่ผิดปกติ ในกรณีที่ฟันล่างยื่นออกไปมากๆ อาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันบนกับฟันล่าง จนส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารได้ รวมถึงความสวยงาม
- ฟันซ้อน (Crowding) หมายถึงลักษณะของฟันที่เรียงไม่เป็นระเบียบ อาจซ้อนกันทั้งข้างนอกและข้างใน ซึ่งอาจเกิดจากสภาวะที่ฟันแท้ขึ้นมาในขณะที่ฟันน้ำนมยังไม่หลุด ทำให้ฟันแท้ขึ้นมาซ้อนฟันน้ำนม หรือฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลาอันควรไปนาน จนทำให้เกิดปัญหาการเรียงตัวของฟันที่ไม่สวยงาม ฟันเบียดเกทับกัน ผู้ที่มีฟันซ้อนกันอาจะเป็นที่สะสมของเศษอาหาร ทำความสะอาดยาก เกิดมีกลิ่นปาก เสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือกอักเสบ และอาจจะเกิดฟันผุตามมาได้ และแน่นอนว่าทำให้ยิ้มไม่สวย
- ฟันห่าง (Spacing) เป็นลักษณะที่มีระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างฟันที่มากกว่า 0.5 มิลลิเมตร สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นฟันหลุด หรือฟันขึ้นไม่เต็มอาจเกิดร่วมกับฟันยื่น ผู้ที่มีฟันห่างจะทำให้พูดไม่ชัด เวลาพูดมีน้ำลายกระเด็น เมื่อรับประทานอาหารจะมีเศษอาหารจะเข้าไปติดอยู่ตามซอกฟัน และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอื่นๆ ตามมาได้ เช่น เหงือกอักเสบ คราบหินปูน และฟันผุ
- ฟันสบลึก (Deep bite) เกิดจากลักษณะของฟันหน้าบน คร่อมปิดฟันหน้าล่างจนมากเกินไป จนไม่เห็นฟันล่าง ในกรณีที่ฟันสบลืกมากๆ จนทำปลายฟันหน้าล่าง ชนโคนฟันหน้าบนด้านในไปเรื่อยๆ พอนานเข้าก็ทำให้ฟันสึก เจ็บ เสียวฟัน สร้างความเสียหายให้กับเหงือกและรากฟันหน้า จนต้องรักษารากฟันได้ และอาจก่อให้เกิดภาวะเจ็บข้อต่อขากรรไกรได้
- ฟันสบเปิด (Open bite) เกิดจากลักษณะของปลายฟันบนและปลายฟันล่างมีระยะห่างออกจากกัน เมื่อกัดฟัน ทำให้มีปัญหาระหว่างรับประทานอาหาร กัดอาหารไม่ขาด ออกเสียงบางคำไม่ชัดเจน ในกรณีที่มีฟันสบเปิดมาก เมื่อยิ้มแล้วจะเห็นเป็นโพรง เหมือนอ้าปากตลอดเวลา ทำให้เสียบุคลิกภาพ ยิ้มแบบไม่มั่นใจ
- ฟันกัดคร่อม (Crossbite) เป็นลักษณะของฟันบนกับฟันล่างที่ไม่สามารถขบได้พอดี หรือเมื่อเวลาขบกัดฟันบนกับฟันล่างจะไม่ตรงกัน มีลักษณะขบแบบไขว้ สลับกันไปมา ไม่สมดุล ทำให้การขบเคี้ยวอาหารได้ไม่เต็มปากเต็มคำ ไม่สามารถใช้ฟันหน้ากัดอาหารได้ตามปกติ และอาจทำให้ไม่สามารถออกเสียงคำบางคำได้ชัดเจน หากเป็นมากอาจมีใบหน้าเบี้ยวร่วมด้วย
- ฟันกัดเบี้ยว (Midline shift) เป็นลักษณะของฟันที่อาจเกิดจากขากรรไกรเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า ส่งผลให้เส้นกึ่งกลางของฟันบนและฟันล่างไม่ตรงกัน หรือไม่มีความสมดุล ทำให้การบดเคี้ยวอาหารทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของการจัดฟัน
การจัดฟัน ไม่ใช่เพียงแค่การจัดเรียงฟันเฉพาะบางซี่ ไม่ใช่ดูแค่การเรียงตัวของฟัน หรือการสบฟันที่ผิดปกติตามปัญหาของฟันดังข้างต้น แต่การจัดฟัน จะเป็นการรักษาที่ดูภาพรวมทั้งปาก ดูการเรียงตัวของฟัน ดูเรื่องความสวยงาม และที่สำคัญก็ต้องดูด้วยว่า ฟันบนและฟันล่างสบกันเป็นอย่างไร สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งปาก ทั้งป้องกันการเกิดโรคเหงือก ลดการเกิดฟันผุ พูดชัดขึ้น ลดกลิ่นปาก ช่วยปรับปรุงสุขภาพทางเดินอาหารด้วยการเคี้ยวอาหารเป็นการย่อยอาหารให้ขั้นแรกโดยทำให้อาหารเป็นชิ้นเล็กๆ มากขึ้น และที่สำคัญการจัดฟันยังช่วยเรื่องของสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจในรอยยิ้ม ช่วยให้ยิ้มได้สวยขึ้น มั่นใจมากขึ้น และมีบุคลิกภาพที่ดี
นอกจากปัญหาของการสบฟันที่ผิดปกติ เช่น ฟันยื่น ฟันกัดคร่อม ฟันห่าง และฟันซ้อนแล้ว เป็นต้น ผู้ที่มีความผิดปกติของการสบฟันจากสาเหตุจากกระดูกขากรรไกร การจัดฟันร่วมกับการศัลกรรมขากรรไกร มีส่วนช่วยให้เกิดเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงหน้า ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดี พูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทันตกรรม