หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. พัลลภ ถิระวานิช

หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง

ภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ หากปล่อยทิ้งไว้ จะส่งผลต่อบุคลิกภาพ และความผิดปกติของกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อตามมา โดยภาวะนี้พบได้บ่อยในวัยทำงาน สาเหตุจากพฤติกรรมประจำวันที่หลายคนมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน หรือการยก แบกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการขับรถเพ่งมองเส้นทางตลอดเวลา


หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น เป็นอย่างไร

ภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น เป็นอาการผิดปกติของโครงสร้างส่วนบนของร่างกาย คือ การเคลื่อนไหวของข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนอก และข้อไหล่ มีความผิดปกติและลักษณะการทำงานที่ไม่สมดุลกัน ทำให้กลุ่มกล้ามเนื้อฝั่งหนึ่งเกิดการหดตัวสั้น และอีกฝั่งหนึ่งยืดยาวออก เกิดความอ่อนแรง ลักษณะเหมือนตัว X โดยจากลักษณะการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกันดังกล่าว ทำให้กล้ามเนื้อทั้งสองฝั่งทำงานในระบบตรงข้ามกัน ดังนี้

  • กลุ่มกล้ามเนื้อหดสั้น ได้แก่ กล้ามเนื้อใต้ท้ายทอย กล้ามเนื้อบ่าส่วนบน กล้ามเนื้อคอ-สะบัก และกล้ามเนื้ออก
  • กลุ่มกล้ามเนื้อที่มีความอ่อนแรง ได้แก่ กล้ามเนื้อก้มศีรษะ กล้ามเนื้อหลังช่วงสะบัก กล้ามเนื้อบ่าส่วนกลาง กล้ามเนื้อบ่าส่วนล่าง และกล้ามเนื้ออกด้านข้าง

หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น สังเกตได้อย่างไร

ภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่นนั้น จะมีโครงสร้างร่างกายภายนอกเปลี่ยนแปลงไป สามารถสังเกตได้ดังนี้

  • ศีรษะยื่นไปข้างหน้า
  • กระดูกสันหลังส่วนคอระดับบนแอ่นมากกว่าปกติ
  • ไหล่ค่อม บ่ายก
  • กระดูกสันหลังส่วนอกระดับบนโค้งมากกว่าปกติ

หากอยู่ในท่าทางดังกล่าวจนเคยชิน ยิ่งนานไปยิ่งปรับท่าทางให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออื่นๆ ตามมาได้



สาเหตุที่เกิดหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น

สาเหตุของภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น หากไม่นับสภาวะจากโครงกระดูกสันหลังที่ผิดปกติแต่กำเนิด หรือถ้าโรคทางกระดูกสันหลังจะสามารถเกิดขึ้นได้จากลักษณะการทำงาน และพฤติกรรมการทำงานของบุคคล ลักษณะการทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนั้น มักเป็นงานที่อยู่ในท่าก้ม การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะการนั่งแบบไม่พิงพนักเก้าอี้ รวมไปถึงอิริยาบถเดิมซ้ำๆ มีการเคลื่อนไหวน้อย งานที่ต้องใช้สมาธิ เช่น งานคอมพิวเตอร์ งานในสำนักงาน อาชีพเย็บผ้า ก้มเล่นสมาร์ทโฟน อ่านหนังสือในท่าเดิม ๆ ขับรถในระยะเวลานาน ๆ การปั่นจักรยาน เป็นต้น ซึ่งอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้กระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างและกล้ามเนื้อเกิดการปรับตัวในรูปแบบที่ผิด ส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวจนหลังค่อมได้


ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ ที่เกิดจากหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น

เนื่องจากโรคหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น เกิดจากความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อส่วนบน หากปล่อยไว้นาน ไม่ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้ดังนี้

  • โรคปวดกล้ามเนื้อและพังผืด มีจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อที่หดสั้น และยังพบอาการปวดแผ่ร้าวไปยังบริเวณอื่นๆ ได้แก่ คอ ไหล่ รอบๆ ทรวงอก แขน และมือร่วมด้วย
  • ความจุปอดลดลง เป็นโรคร่วมที่พบได้บ่อย เนื่องจากลักษณะท่าทาง ไหล่ค่อม ศีรษะยื่นไปข้างหน้า ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะหดสั้น ทำให้ผนังทรวงอก เคลื่อนไหวได้ไม่ดีขณะหายใจเข้า-ออก ทำให้ประสิทธิภาพทางระบบการหายใจลดลง
  • การกดทับของเส้นประสาท โดยลักษณะของกระดูกสันหลังส่วนอกระดับบนที่โค้งมากกว่าปกติและศีรษะที่ยื่นไปข้างหน้าทำให้กระดูกสันหลังส่วนคอแอ่นมากกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อรากประสาทไขสันหลัง หากถูกกดทับ หรือถูกรบกวน อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวตามเส้นประสาท ชา และอาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
  • มีอาการปวดคอ ปวดไหล่ จากกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีภาวะหดสั้น รากประสาทไขสันหลังระดับคอถูกรบกวน และลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น หลังค่อม ไหล่ห่อ หรือการอยู่ในอิริยาบถเดิมซ้ำๆ
  • ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headaches) เกิดจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ คอ จากลักษณะศีรษะที่ยื่นไปข้างหน้า ไหล่ค่อม มักมีอาการปวดที่ท้ายทอย อาจร้าวไปขมับสองข้างหรือปวดทั่วศีรษะ เหมือนอะไรมาบีบมารัด อาจมีอาการปวดร้าวมาสะบักไหล่ทั้ง 2 ข้าง อาการค่อยๆ เป็น มักเริ่มตอนบ่ายหรือเย็น อาการปวดอาจเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้

การรักษาภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น สามารถทำได้ดังนี้

  1. การยืดกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และสะบัก ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยคงความความสมดุลของกล้ามเนื้อและข้อต่อหรือปรับให้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เรามีท่าทางที่เหมาะสมและลดความเสี่ยงในการปวดบริเวณศีรษะ คอ บ่า และไหล่ได้
  2. การรักษาด้วยการกายภาพบำบัดบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave) การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง คลายกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็ง เร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เป็นต้น
  3. การปรับพฤติกรรมระหว่างการทำงาน จัดอิริยาบถ และสมดุลโครงสร้างร่างกายให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ เช่น ไม่ควรอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ท่าทางเดิมซ้ำๆ นานเกินไป และควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30 นาที - 1 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เอื้อต่อการทำงาน และสะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย
อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบองค์รวม แก้ไขปัญหาทางสุขภาพอย่างตรงจุด และมีความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน โดยสามารถเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง และนักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของอาการหลังค่อม ไหล่ห่อ เพราะหากปล่อยไว้นาน ภาวะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันลดลงได้ ท่านสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ กับ รพ.นครธน ได้ที่ คลิก


นพ.พัลลภ ถิระวานิช นพ.พัลลภ ถิระวานิช

นพ.พัลลภ ถิระวานิช

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์/กระดูกสันหลัง
ศูนย์กระดูกสันหลัง






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย