หินปูนในเต้านม คลำไม่เจอ บีบไม่เจ็บ ตรวจได้ด้วยแมมโมแกรม

ศูนย์ : ศูนย์รังสีวินิจฉัย, ศูนย์รักษ์เต้านม

บทความโดย : พญ. ณัชชา นิมมานสถิต

หินปูนในเต้านม คลำไม่เจอ บีบไม่เจ็บ ตรวจได้ด้วยแมมโมแกรม

เพราะเรื่องเต้านมกับผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอะไรผิดปกติที่เกิดในเต้านมก็คงจะปล่อยผ่านไปไม่ได้ หากปล่อยผ่านไปอาจจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งที่เต้านมได้ และหลายๆ ครั้งมักมีคำถาม และข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับเต้านม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องแคลเซียมหรือหินปูนในเต้านม ว่าคืออะไร เป็นอันตรายไหม ต้องผ่าตัดออกหรือไม่ แล้วจะกลายเป็นมะเร็งหรือเปล่า มาไขข้อสงสัยเหล่านี้กันดีกว่า


หินปูนในเต้านม คืออะไร?

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับ “หินปูนในเต้านม” กันก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วหินปูนเป็นสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสารประกอบแคลเซียมในเต้านม เนื่องจากในเต้านมยังมีสารประกอบแคลเซียมชนิดอื่นๆ อีก เช่น แคลเซียมฟอสเฟต เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความสับสน ในบทความนี้จึงขอเรียกทับศัพท์ว่าแคลเซียม

หินปูนพบได้เกือบทุกคนในผู้หญิงเกิดเพราะการตายของเซลล์ จะแสดงให้เห็นได้จากการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ไม่สามารถคลำพบได้ด้วยมือเปล่า โดยจะเห็นเป็นสีขาวๆ ขนาดตั้งแต่จุดเล็กๆ เท่าเม็ดทรายจนถึงก้อนใหญ่เท่านิ้วหัวแม่มือ โดยทั่วไปไม่สามารถตรวจพบแคลเซียมโดยการคลำเต้านมยกเว้นแคลเซียมนั้นเกิดร่วมกับก้อนเนื้อที่ทำให้สามารถคลำพบได้

ลักษณะของหินปูนในเต้านม

สามารถแบ่งลักษณะของหินปูนในเต้านม ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ หินปูนชนิดที่ไม่อันตราย และหินปูนชนิดที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

หินปูนชนิดที่ไม่อันตราย มีด้วยกันหลายแบบ เช่น

  • หินปูนที่มีขนาดใหญ่ โดยมากหินปูนพวกนี้มักเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ที่อยู่ภายในก้อนเนื้องอกชนิดหนึ่ง
  • หินปูนที่มีลักษณะเป็นกลมๆ ขอบขาวๆ คล้ายเปลือกไข่ หินปูนพวกนี้เกิดจากการขาดเลือดของไขมันในเต้านม โดยเกิดจากการกระแทกโดยตรงที่เนื้อเต้านมอย่างแรง
  • หินปูนที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด โดยแคลเซียมชนิดนี้จะจับที่ผนังเส้นเลือดแดงลักษณะคล้ายรางรถไฟ พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • หินปูนที่อยู่ตามผิวหนัง มีลักษณะกลมๆ ใหญ่ๆ เห็นขอบเขตชัดเจน
  • หินปูนที่มีลักษณะเป็นหลอดๆ รูปร่างคล้ายกระสวย หินปูนเหล่านี้มักเกิดจากสารคัดหลั่งในท่อน้ำนม

หินปูนชนิดที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถพิจารณาจาก 2 ลักษณะ ได้แก่ รูปร่างของหินปูน และการกระจายตัวของหินปูน

ลักษณะของหินปูน

  • หินปูนเม็ดเล็กๆ ฝอยๆ ที่มีขอบเขตชัดเจน
  • หินปูนเม็ดเล็กๆ ฝอยๆ ที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน เหมือนผงแป้ง
  • หินปูนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยและมีความเข้มมากกว่า แต่ขนาดก็ดูไม่ค่อยสม่ำเสมอกัน
  • หินปูนที่มีลักษณะทั้งความเข้มและขนาดไม่สม่ำเสมอกันเลย
  • หินปูนที่มีลักษณะเป็นขีดเส้นตรงเล็กๆ สั้นๆ หินปูนประเภทนี้มักจะอยู่ตามเยื่อบุผนังท่อน้ำนม ถ้าพบเจอจะต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะหินปูนเหล่านี้อาจเป็นลักษณะของมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การกระจายตัวของหินปูน

  • หินปูนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เส้นผ่านศูนย์กลางของกลุ่มหินปูนไม่เกิน 2 เซนติเมตร ก็มีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
  • หินปูนมีลักษณะเรียงตัวกันเป็นเส้นตรงตามแนวท่อน้ำนม หรือเป็นเส้นแบบกิ่งไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขา ลักษณะหินปูนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูงมาก โดยหากพบเจอเข้าแพทย์มักจะต้องทำการเจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อเพื่อให้การวินิจฉัยทางพยาธิโดยเร็ว

หินปูนในเต้านมตรวจได้ด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)

หินปูนในเต้านมไม่สามารถคลำพบได้ด้วยมือเปล่า จะแสดงให้เห็นได้จากการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์พิเศษเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ที่ไม่สามารถตรวจพบจากการตรวจร่างกายจะมองเห็นลักษณะความเข้มทึบที่ต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิด เช่น เนื้อเยื่อเต้านม หลอดเลือด ไขมัน หินปูน หรือกลุ่มแคลเซียมที่เกิดจากมะเร็งท่อน้ำนมในระยะแรก ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก หรือ ตรวจติดตามหลังการผ่าตัด

พบหินปูนในเต้านมควรทำอย่างไร

เมื่อผลตรวจแมมโมแกรมออกมาแล้ว แพทย์แจ้งว่าพบแคลเซียม หรือหินปูนในเต้านม อย่าพึ่งตกใจไปถ้าในกรณีที่ตรวจพบหินปูนชนิดที่ไม่อันตราย ก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพียงแค่ตรวจติดตามแมมโมแกรมเพียงปีละครั้ง (หมายความว่าไม่อันตรายแน่นอน) ส่วนในผู้ที่พบหินปูนชนิดที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ก็จะมีแนวทางปฏิบัติอยู่ 2 ทางเลือก คือ 1) ตรวจติดตามแมมโมแกรมทุกๆ 6 เดือน หรือ 2) ทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย โดยพิจารณาตามความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและการกระจายตัวของหินปูนที่พบ

ช่วงอายุที่เหมาะสมในการตรวจแมมโมแกรม

  1. ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง ควรเริ่มได้รับการทำแมมโมแกรมตั้งแต่ก่อนอายุที่ญาติสายตรงคนนั้นเริ่มเป็นมะเร็งเต้านม 5 ปี
  2. ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการทำแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี ทั้งนี้หินปูนในเต้านมที่ตรวจพบจากแมมโมแกรมก็มีหลายลักษณะ ซึ่งหินปูนแต่ละลักษณะก็เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป เรามารู้กันก่อนดีกว่าว่าหินปูนในเต้านมนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
    • เกิดจากภาวะปกติในผู้สูงอายุ หินปูนพวกนี้มักจะเกาะอยู่ในผนังหลอดเลือด
    • หินปูนที่เกิดจากการบาดเจ็บของเนื้อเต้านมอย่างแรง
    • หินปูนที่เกิดจากสารคัดหลั่งต่างๆ ที่อยู่ในท่อหรือต่อมน้ำนม
    • เซลล์บางตำแหน่งในก้อนเนื้องอกบางชนิดในเต้านมมีความเสื่อมไป

> กลับสารบัญ



เมื่อทราบแบบนี้แล้วท่านที่ตรวจพบหินปูนที่เต้านมจะได้ไม่ต้องกังวล เพราะการตรวจพบหินปูนที่เต้านมไม่ใช่เรื่องที่อันตรายในทุกกรณีไป เพราะส่วนใหญ่แล้วแคลเซียมหรือหินปูนในเต้านมนั้นไม่อันตราย และพบได้บ่อยในการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสามารถปรึกษาแพทย์ออน์ไลน์ได้เลย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย