เช็คสุขภาพลำไส้ เมื่ออายุครบ 50+ ด้วยการ “ส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่”
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แม้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่มีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ นั่นคือพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การหันมารับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น เช่น เบเกอรี่ สเต็ก อาหารประเภทให้ความหวานมากๆ อาหารมันๆ และรับประทานผัก ผลไม้น้อย อีกทั้งสภาวะแวดล้อมที่หลายๆ คนต้องเผชิญ เช่น ความรีบเร่งจากการทำงาน ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อีกปัจจัยอีกหนึ่ง คือ พันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดโดยยีน
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ และการตรวจคัดกรองเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสามารถค้นพบเนื้องอกที่มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งได้ แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุ 45-50 ปี
การตรวจส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจคัดกรองแบบมาตรฐานสากล โดยเกณฑ์ของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ เพศชายและหญิงอายุ 50 ปี ทุกคนต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง แต่หากมีพ่อ แม่ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ใช้หลักโดยการนำอายุขณะที่ญาติเป็น ลบด้วย 10 เช่น แม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 50-10 = 40 ปี ดังนั้นลูกต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 40 ปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นและแนะนำตรวจ ทุก 5 ถึง 10 ปี
เหตุผลที่ควรส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
วิธีการตรวจส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) จะช่วยให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมดและสามารถเก็บชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจ โดยให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำ วิธีการคือแพทย์จะใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายได้ อีกทั้งแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง
สิ่งที่ตรวจพบได้จากการส่องกล้อง
- ริดสีดวงทวาร
- ลำไส้อักเสบ
- ติ่งเนื้อ
- ถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ (Diverticulum)
- เนื้องอก
มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากติ่งเนื้อ (polyps) เป็นเซลล์เนื้อที่ผิดปกติงอกจากผนังลำไส้ ซึ่งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ติ่งเนื้องอก (polyps) จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติร้ายแรงมากขึ้น ถ้าทิ้งไว้นานขึ้น แต่หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ และกำจัดออกได้ก่อนก็จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเนื้อร้ายได้
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ