เดินนานไม่ได้ ปวดหลังร้าวลงขา อาจเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ปริญญา บุณยสนธิกุล

เดินนานไม่ได้ ปวดหลังร้าวลงขา อาจเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคความผิดปกติของกระดูกสันหลังและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้เป็นโรคนี้มีอายุที่ลดลง คือตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โรคนี้มักทำให้มีอาการปวดหลังโดยอาจพบร่วมกับอาการปวดหลังร้าวลงขาข้างเดียวหรือ 2 ข้างพร้อมๆ กันก็ได้ หรือเดินแล้วมีอ่อนแรงหรือปวดต้องหยุดเป็นพักๆ ซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาท และเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ อาการอาจแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เส้นประสาทไขสันหลังหรือเส้นประสาท เพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม


โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบเป็นอย่างไร

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (spinal stenosis) เป็นภาวะที่มีการตีบแคบลงของโพรงที่เป็นช่องตลอดความยาวภายในกระดูกสันหลัง ซึ่งเรียกว่าโพรงกระดูกสันหลังส่วนมากเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังระดับเอว ซึ่งเป็นช่องทางผ่านของเส้นประสาทไขสันหลัง โดยการตีบแคบอาจเกิดเพียงระดับเดียว หรือหลายระดับของโพรงกระดูกสันหลังก็ได้


โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบเกิดจากสาเหตุใด

เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะในกระดูกสันหลัง ได้แก่ หมอนรองกระดูก เส้นเอ็น และข้อต่อ เมื่ออวัยวะเหล่านี้เกิดความเสื่อมขึ้น จะทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากร่างกายพยายามรักษาตัวเองโดยธรรมชาติเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ก็จะขยายขนาดขึ้นก็จะทำให้โพรงประสาทที่มีเส้นประสาทอยู่ด้านในถูกเบียดหรือกดทับได้ ส่งผลทำให้มีอาการปวดขึ้นตามเส้นทางที่เส้นประสาทนั้นวิ่งไป และเมื่อมีการกดทับรุนแรงเข้าก็ทำให้การสั่งงานไปที่กล้ามเนื้อเสียไปทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อได้


ปัจจัยในการเกิดโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากการเสื่อมสภาพตามวัยอาจทำให้เกิดโรคได้
  • กระดูกสันหลังผิดรูปแต่กำเนิด เช่น กระดูกสันหลังคด
  • โรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่อการพัฒนากระดูกและกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
  • การใช้งานและกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น ยกของหนักผิดท่าบ่อยๆ การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน การขับรถนานๆ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เป็นต้น
  • การบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง อุบัติเหตุทางรถยนต์ และการบาดเจ็บอื่น ๆ อาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหัก
  • โรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น กระดูกโตผิดปกติ หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เอ็นยึดกระดูกหนาผิดปกติ เนื้องอกในไขสันหลัง เป็นต้น

อาการของโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

อาการของโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรคและเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ บางรายอาจไม่แสดงอาการแม้จะมีการดำเนินของโรคอยู่ ซึ่งโรคมักจะค่อยๆ เริ่ม และจะมีอาการแย่ลงไปเรื่อยๆ โดยอาการมีดังนี้

อาการที่หลัง จะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งอาการปวดมักอยู่ที่ส่วนกลางของเอวและมักเป็นมากขึ้นในท่ายืน เดิน หรือเมื่อมีการแอ่นหลังไปด้านหลังมากๆ

อาการที่ขา จะมี 3 แบบ คือ อาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ได้แก่

  • มีอาการปวดหน่วง ขาหนัก ชาขา หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่ไปตามขา
  • เมื่อมีการเดินหรือยืนนานๆ จะมีอาการมากขึ้น
  • อาการมักบรรเทาได้ด้วยการก้มโค้งหลังหรือมีการนั่งพัก เนื่องจากในท่ายืนและท่าเดินนั้นโพรงประสาทจะแคบกว่าในท่าก้มโค้งหลัง
  • ไม่สามารถเดินซื้อของนานๆ หรือเดินได้แค่ระยะใกล้ เช่น 50-150 เมตร ก็ต้องมีการนั่งพักเป็นระยะๆ
  • บางรายมีอาการมาก เพียงยืนอาบน้ำหรือแปรงฟันก็ทำให้เกิดอาการได้

การวินิจฉัยโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

แพทย์วินิจฉัยโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โดยการซักประวัติคนไข้ และการตรวจร่างกาย การตรวจเอกซเรย์ (X-RAY) พร้อมด้วยการตรวจพิเศษอื่นๆ ได้แก่

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อประเมินโครงสร้างว่ามีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังหรือไม่ เช่น ภาวะกระดูกงอก
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจสอบความเสียหายของหมอนรองกระดูกและเอ็นยึดกระดูก และตรวจดูว่ามีเนื้องอกหรือไม่ ซึ่งการตรวจนี้ช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งของเส้นประสาทในไขสันหลังที่ถูกกดทับได้

แนวทางรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค ได้แก่

  1. การให้ยาลดอาการปวด ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของตัวเส้นประสาท ร่วมกับการทำกายภาพ เพื่อให้พังผืด เส้นเอ็น ข้อต่อ คลายตัวออก แล้วสร้างกล้ามเนื้อ ด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดลึก เพื่อทำให้การไหลเวียนของเส้นประสาทไหลเวียนได้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นและแข็งแรงของกระดูกสันหลัง
  2. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท เป็นยาที่ผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังหรือใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวด จะช่วยลดความปวดจากการอักเสบ และช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยารับประทาน และการกายภาพแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
  3. การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) เพื่อบรรเทาอาการกดทับในไขสันหลังหรือรากประสาทโดยการสร้างพื้นที่มากขึ้นภายในช่องบรรจุไขสันหลัง โดยทั่วไปการผ่าตัดจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ รักษาด้วยวิธีประคับประคอง ไม่เป็นผลสำเร็จ หรือมีอาการปวดเรื้อรังและรุนแรง หรือมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน ไม่สามารถเดินหรือยืนนานๆ ได้ หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้

การผ่าตัดโรคโพรงกระดูกตีบแคบผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope)

จะเป็นการผ่าตัดรักษาเพื่อบรรเทาอาการกดทับในไขสันหลังหรือรากประสาท โดยการสร้างพื้นที่มากขึ้นภายในช่องบรรจุไขสันหลัง โดยการสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดซึ่งมีขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดเฉพาะส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือจากการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็น โดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที จากนั้นผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีภายหลังการผ่าตัด

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเสื่อมของร่างกายซึ่งอาจทำให้หลีกเลี่ยง หรือป้องกันได้ยาก แต่การตรวจพบ และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้อาการไม่รุนแรงมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาในปัจจุบันสามารถทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ที่สามารถช่วยลดขนาดแผล ลดภาวะแทรกซ้อน และลดการพักฟื้นของผู้ป่วยได้ จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย