เนื้องอกต่อมใต้สมอง ภัยเงียบที่อาจทำให้คุณตาบอด

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : ผศ.นพ. พีรพงศ์ เหลืองอาภาพงศ์

เนื้องอกต่อมใต้สมอง ภัยเงียบที่อาจทำให้คุณตาบอด

หากพบว่าร่างกายทำงานผิดปกติไปจากเดิม จู่ๆ ก็มีอาการตามัว ปวดศีรษะรุนแรง ชัก นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง อยู่ก็เป็นได้ เนื่องจากเนื้องอกชนิดนี้จะส่งผลต่อการผลิต และการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย โดยตัวเนื้องอกมีทั้งชนิดที่ผลิตฮอร์โมนและไม่ผลิตฮอร์โมน และเนื้องอกต่อมใต้สมองบางชนิด อาจทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนมากจนเกินความต้องการจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ เนื้องอกต่อมใต้สมอง ยังสามารถกดทับเส้นประสาทตาจนเป็นเหตุให้ตาบอดได้ เพราะความเสียหายของเส้นประสาทตา


รู้จักต่อมใต้สมอง

ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) เป็นต่อมที่อยู่ใต้สมองส่วนหน้าใกล้ๆ กับเส้นประสาทตา อยู่ในแอ่งกระดูกเซลลาเทอร์ซิกาซึ่งอยู่บริเวณฐานกะโหลกศีรษะ ด้านข้างทั้งสองด้านของต่อมประกอบด้วยโพรงหลอดเลือดดำใต้ฐานสมอง ซึ่งภายในโพรงหลอดเลือดดำนี้มีประสาทสมองหลายเส้น ต่อมนี้มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ ให้แก่ต่อมไร้ท่อทั่วร่างกาย ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต และต่อมที่ผลิตฮอร์โมนเพศ โดยจะถูกควบคุมด้วยสมองส่วนไฮโปทาลามัส เมื่อเซลล์ของต่อมใต้สมองเพิ่มจำนวนมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นต่อมไร้ท่ออื่นๆ ให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ฮอร์โมนเพศ และคอร์ติโซนออกมามากผิดปกติ หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง อาจโตไปกดเบียดเนื้อเยื่อต่อมใต้สมองที่เป็นเซลล์ปกติให้ทำงานลดลงได้ หากเนื้องอกต่อมใต้สมองมีขนาดโตมาก ขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการกดทับต่อเนื้อเยื่อปกติข้างเคียง เช่น เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทตา


เนื้องอกต่อมใต้สมอง เป็นอย่างไร

เนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary Tumor) เป็นกลุ่มเซลล์ที่เจริญผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นต่อมที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมน อีกทั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือใช้กล้ามเนื้อดวงตา เนื้องอกต่อมใต้สมองที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งชนิดเนื้อดีหรือเนื้อร้าย แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองสามารถแบ่งตามการสร้างฮอร์โมนของเนื้องอก เช่น เนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนโปรแลคติน เป็นต้น และตามขนาดของก้อนเนื้องอกและระดับการโตของเนื้องอก เช่น ถ้ามีขนาดมากกว่า 1 ซม. จะเรียกว่า แมคโครพิทูอิตารีอะดรีโนมา (Macropituitary adenoma) ซึ่งจะเริ่มส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมองข้างเคียงแล้ว และหากมีขนาดเล็กกว่า 1 ซม. จะเรียกว่า ไมโครพิทูอิตารีอะดรีโนมา (Micropituitary adenoma)


อาการเนื้องอกต่อมใต้สมอง

โดยส่วนมากผู้ป่วยที่มีเนื้องอก มักจะไม่ค่อยมีอาการผิดปกติ ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจปวดรุนแรงมากขึ้นอย่างเฉียบพลันหากมีเลือดออกในเนื้องอก แต่เมื่อเนื้องอกมีการขยายขนาดขึ้นมาก ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ขึ้นได้ ทั้งนี้เนื้องอกต่อมใต้สมองนั้นสามารถทำให้มีอาการได้ 2 แบบหลัก คือ

  1. อาการที่เกิดความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อ อาทิ
    • ความผิดปกติกับฮอร์โมนโปรแลคตินก็จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำนมไหล
    • ความผิดปกติฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ก็จะทำให้รอบเดือนผิดปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือหมดความต้องการทางเพศ เป็นต้น
    • เนื้องอกต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนในการเติบโต (Growth hormone) มากกว่าผิดปกติ จะทำให้มีรูปร่างของผู้ป่วยจะสูงใหญ่กว่าคนปกติมาก ถ้าเป็นโรคนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าเป็นหลังจากร่างกายหยุดเติบโตแล้ว จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะโครงสร้างของใบหน้า มือและเท้า ซึ่งจะใหญ่ขึ้น
    • ความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากขึ้น ทำให้มีอาการมือสั่น น้ำหนักลด ท้องเสีย ขี้ร้อน
    • หากมีฮอร์โมนกลุ่มคอร์ติซอลออกมาเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดภาวะคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) จะมีอาการแขนขาเล็ก อ้วนลงพุง หน้ากลมลักษณะคล้ายพระจันทร์ ผิวหนังบางลง อ่อนเพลีย และผมร่วง
    • ต่อมใต้สมองบริเวณด้านหลังโตขึ้น จะส่งผลให้เกิดภาวะเบาจืด มีอาการหิวน้ำบ่อยและปัสสาวะถี่ขึ้น
  2. อาการที่เกิดจากเนื้องอกกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น
    1. เนื้องอกกดเบียดประสาทการมองเห็น ทำให้เกิดอาการตามัว และลานสายตาแคบลง หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด
    2. เนื้องอกลุกลามเข้าในโพรงหลอดเลือดดำคาเวอร์นัส หรือเลือดออกภายในเนื้องอกต่อมใต้สมอง ทำให้เกิดอาการเห็นภาพซ้อน และตรวจพบการกลอกตาผิดปกติ จากความผิดปกติของประสาทสมองเส้นที่ 3, 4, 6 และอาการใบหน้าชาจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ส่วนที่ 1 และ 2
    3. เนื้องอกกดเบียดเยื่อหุ้มสมองชั้นดูราและเยื่อหุ้มสมองที่อยู่เหนือต่อมใต้สมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือเนื้องอกกดเบียดเนื้อสมองทำให้เกิดอาการชัก


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจและวินิจฉัยเนื้องอกต่อมใต้สมอง

ความผิดปกติของฮอร์โมนมักเป็นอาการแสดงที่นำไปสู่ความสงสัยในโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งการตรวจด้านรังสีวินิจฉัยจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) สามารถตรวจพบก้อนเนื้องอกได้ โดยเฉพาะหากมีภาวะเลือดออกในก้อน การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) สามารถเห็นรายละเอียดของเนื้องอก การลุกลามของเนื้องอกการกดเบียดเส้นประสาทการมองเห็นโดยเนื้องอกได้อย่างชัดเจน เป็นต้น รวมไปถึงการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับฮอร์โมนซึ่งบ่งถึงการทำงานของต่อมใต้สมอง ว่ามีการสร้างฮอร์โมนปกติมากเกินปกติหรือน้อยกว่าปกติซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยและแยกชนิดของเนื้องอกต่อมใต้สมองได้


การรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง

เนื้องอกต่อมใต้สมองอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทุกราย หากก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กมากและไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ อาจเพียงตรวจติดตามโดยไม่ต้องให้การรักษา หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติควรได้รับการรักษา การรักษาส่วนใหญ่ของเนื้องอกต่อมใต้สมอง คือ การผ่าตัด แต่การรักษานั้นก็จะขึ้นกับอาการที่พบเป็นหลัก เช่น เนื้องอกที่ทำให้ฮอร์โมนโปรแลคตินโนมาสูงกว่าผิดปกติ ที่โดยทำให้มีน้ำนมไหลแบบไม่ถูกกาลเทศะ สามารถใช้ยารักษาให้ฝ่อได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น

การผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมอง สามารถทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าตัดผ่านกะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมอง สมอง ลงมาที่ฐานกะโหลก เพื่อเอาเนื้องอกออกได้ และอีกทางหนึ่งคือ เข้าจากทางด้านล่าง ผ่านทางรูจมูก หรือ ทางเหงือก แล้วผ่านทางช่องโพรงจมูกไปที่ฐานกะโหลก โดยใช้กล้องผ่าตัดกำลังขยายสูง เพื่อเอาเนื้องอกออก แต่ว่าในบางครั้ง การผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมองนั้นอาจจะต้องใช้ทั้ง การผ่าตัดเปิดกะโหลก และ ส่องกล้องเลยก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับหน้าตาของเนื้องอกเป็นสำคัญ


การผ่าตัดส่องกล้องขนาดเล็ก (Endoscopic)

การผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมองในปัจจุบันจะใช้วิธีการผ่าตัดผ่านทางโพรงจมูกด้วยการส่องกล้องขนาดเล็ก (Endoscopic) กล้องที่มีลักษณะเป็นแท่ง สอดทางโพรงจมูกเข้าไปในบริเวณสมองที่ต้องการผ่าตัดมีความละเอียดสูงทำให้มองเห็นในจุดที่ลึกได้อย่างชัดเจน ซึ่งรอยแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 ซม หรือขนาด 3-4 ซม. ในบางราย โดยที่ไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัด ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในน้อย ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ผู้ป่วยใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน แผลเล็ก เจ็บน้อย

อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติของร่างกายก็ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ในผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการรักษาอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังโรคหรือเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วหากตรวจพบเนื้องอก





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย