โรคเบาหวาน เป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยเบาหวานถ้ามีภาวะน้ำตาลสูงไม่ได้เป้าหมายอยู่เป็นเวลานานจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น ทำให้เกิดไตเสื่อม เบาหวานที่จอตา ตามมาได้ ซึ่งเบาหวานที่จอตาในช่วงแรกอาจไม่พบอาการหรืออาจมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการรุนแรง แล้วปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
สารบัญ
เบาหวานที่จอตาเป็นอย่างไร
Diabetic Retinopathy หรือ เบาหวานที่จอตา เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้มีการเสื่อมของเซลล์ประสาท และมีความผิดปกติของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก และหน่วยประสาทและหลอดเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้จอตามีการขาดเลือด มีการกระตุ้นให้สร้างหลอดเลือดใหม่ที่จอตา และทำให้สายตามัวมากขึ้น
ระยะของเบาหวานที่จอตา
เบาหวานขึ้นตาสามารถแบ่งได้ ตามความรุนแรงของโรค คือ
- ระยะที่ยังไม่พบความผิดปกติ (no diabetic retinopathy)
- ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR)เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา ทำให้เกิดจอตาบวม อาจไม่มีอาการหากเป็นช่วงเริ่มต้น หรืออาจอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีการอุดตันของเส้นเลือดที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้
- ระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR)เป็นระยะที่เส้นเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเส้นเลือดที่สร้างขึ้นใหม่อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้มีเลือดรั่วซึมออกมาที่บริเวณวุ้นตา และอาจทำให้เกิดแผลเป็นซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาหลุดลอกได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวลง สูญเสียการมองเห็น
อาการเริ่มแรกของเบาหวานที่จอตา
อาการของโรคเบาหวานที่จอตาโดยทั่วไปในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการ โดยผู้ป่วยที่เบาหวานที่จอตาหากยังไม่เป็นรุนแรงการมองเห็นของผู้ป่วยจะยังคงปกติดีอยู่ ถ้าหากตามัวมองไม่ชัดแสดงว่าอาจเป็นมากแล้วซึ่งทำให้รักษาได้ยากขึ้นและผลการรักษาไม่ดี
การตรวจตาเพื่อดูเบาหวานที่จอตา
เริ่มจากตรวจวัดระดับการมองเห็น จากนั้นจะมีการหยอดยาขยายรูม่านตา เนื่องจากในภาวะปกติรูม่านตาของคนเราจะมีขนาดเล็กทำให้ตรวจประเมินจอตาได้ลำบาก จึงจำเป็นต้องหยอดยาเพื่อช่วยขยายรูม่านตา ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที (ผู้ป่วยแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน) หลังจากนั้นจะทำการตรวจโดยใช้เครื่องมือส่องไฟเข้าไปดูในจอตาระหว่างตรวจอาจรู้สึกแสบตาสว่างในตาเกิดตาพร่าขึ้นได้ หลังจากการตรวจอาจมีอาการตาพร่าอยู่บ้างจากฤทธิ์ยาขยายรูม่านตาอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองภายใน 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ป่วยที่จะมาตรวจจอตาไม่ควรขับรถมาเองควรพาญาติมาด้วย หากผู้ป่วยใช้คอนแทคเลนส์ต้องถอดออกก่อนการตรวจทุกครั้ง
ควรตรวจจอตาเมื่อ
- เบาหวานชนิดที่ 1 ควรตรวจเมื่อหลังการวินิจฉัย 5 ปี
- เบาหวานชนิดที่ 2 ควรตรวจตั้งแต่เมื่อเริ่มวินิจฉัย
หลังจากนั้นให้ตรวจทุกปี หรือตามระยะความรุนแรงของโรค
การรักษาเบาหวานที่จอตา
ถ้าหากตรวจพบว่าเบาหวานที่จอตา เป็นในระยะเริ่มต้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมอาหาร และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมความดันโลหิต และระดับไขมันให้เป็นปกติ หากเป็นในระยะที่รุนแรงแพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยใช้เลเซอร์ ฉีดยาเข้าวุ้นตาเพื่อไปยับยั้งไม่ให้รุนแรงมากขึ้น หากเป็นมากมีพังผืดดึงรั้งจอตา มีเลือดออกในวุ้นตา จอตาหลุดลอกหรือฉีดขาด อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
ป้องกันภาวะเบาหวานที่จอตา
ผู้ป่วยสามารถควบคุมให้โรคเบาหวานเป็นไม่รุนแรงได้ โดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การรับประทานยา หรือการใช้ยาฉีดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจำเป็นต้องมาตรวจดูว่าเป็นเบาหวานที่จอตาหรือไม่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเบาหวานที่จอตา หากพบเร็วและได้รับการรักษาในทันทีผลการรักษาจะดีกว่า และควรควบคุมเบาหวานและโรคร่วมอื่นๆ โดยเฉพาะความดันโลหิตและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เพียงเท่านี้ผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถมีการมองเห็นที่เป็นปกติได้ ทั้งนี้สามารถสอบถามและปรึกษาแพทย์ออนไลน์ฟรีได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม