“เอช ไพโลไร” แบคทีเรียร้ายก่อโรคแผลในกระเพาะอาหาร

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

“เอช ไพโลไร” แบคทีเรียร้ายก่อโรคแผลในกระเพาะอาหาร

คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่? จุกเสียดแน่นหรือเจ็บท้อง หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด ปวดท้องกลางดึก ปวดท้องเป็นๆ หายๆ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดออก หลายคนอาจคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นแค่อาการของโรคกระเพาะอาหารธรรมดา แต่จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori (เอช.ไพโลไร) ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้


โรคแผลในกระเพาะอาหารกับเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori

สาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือทางการแพทย์เรียกว่า โรคแผลเปปติค (Peptic Ulcer) ซึ่งเกิดเป็นแผลบริเวณกระเพาะอาหารโดยตรง หรือเกิดเป็นแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหาร ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะประสบปัญหาการเป็นๆ หายๆ สาเหตุสำคัญคือมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เอช.ไพโลไร H.Pylori”

เอช.ไพโลไร เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดได้จากการรับประทานอาหารไม่ว่าจะจากน้ำลายของผู้ร่วมวงอาหาร เนื่องจากไม่ได้ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ปิ้ง ย่าง เผา รวมถึงการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรืออาหารรสจัดบ่อยๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารมีการอักเสบเรื้อรัง จนทำลายผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้จนเกิดเป็นแผล และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ปัจจุบันพบว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ดื้อยามากขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการตรวจติดตามหลังจากรับประทานยาฆ่าเชื้อแล้ว


หลักการสำคัญในการตรวจหาเชื้อ H.Pylori ในกระเพาะอาหาร

เพื่อให้มั่นใจว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori จึงต้องทำการตรวจวินิจฉัย เพื่อที่จะรู้ที่มาและรักษาได้ตรงจุด ซึ่งวิธีการตรวจแบบมาตรฐานเดิม คือการส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทางปาก ที่เรียกว่า Gastroscopy แล้วตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะมาตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิคต่างๆ แต่เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori สามารถผลิตเอนไซม์ Urease ซึ่งย่อย Urea ได้ ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเชื้อที่เรียกว่า Urea Breath Test C-13 หรือการตรวจผ่านลมหายใจ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานเม็ดยา Urea ที่เคลือบ 13c หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อดังกล่าว จะเกิดการย่อยเม็ดยาได้แอมโมเนียออกมากับปัสสาวะและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากับลมหายใจ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการเก็บลมหายใจเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ต่อไป

ทั้งนี้การตรวจ Urea Breath Test C-13 หรือการตรวจผ่านลมหายใจเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีความแม่นยำสูง เพื่อเป็นการตรวจติดตามหลังการรักษาแล้วว่ายังมีเชื้ออยู่หรือไม่โดยไม่ต้องส่องกล้องซ้ำ


ข้อดีของการใช้ Urea Breath Test

  • ผู้ป่วยไม่เจ็บปวด
  • เป็นการตรวจหาเชื้อ H.Pylori ทั่วทั้งกระเพาะอาหาร
  • เป็นการตรวจหาเชื้อ H.Pylori ทั่วทั้งกระเพาะอาหาร
  • เม็ดยา Urea ที่เคลือบด้วย 13C ไม่เป็นสารกัมมัมตภาพรังสี จึงไม่เหลือสารตกค้างในร่างกาย ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
  • ลดการติดเชื้อเนื่องจากถุงเก็บตัวอย่างเป็นชนิด Disposable (ใช้ครั้งเดียวทิ้ง)
  • วิเคราะห์ผลง่าย รวดเร็ว มีความแม่นยำสูง ทราบผลภายใน 30 นาที

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

  • งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนตรวจอย่างน้อย 6 ชม.
  • งดอาหารที่มีสาร Urea เช่น น้ำอ้อย และน้ำสับปะรด ข้าวโพด 1 วันก่อนการทดสอบ
  • งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ 1 วันก่อนการทดสอบ เพื่อป้องกันผลลบปลอม
  • งดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) 4 สัปดาห์ก่อนตรวจ
  • งดการใช้ยากลุ่ม Proton pump inhibitors (PPIs) , ยากลุ่ม Bismuth เช่น Pepto-Bismol 2 สัปดาห์ก่อนตรวจ
  • ห้ามเคี้ยวเม็ดยา

สรุปแล้วโรคแผลในกระเพาะอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori สามารถรักษาและมีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้นอย่าลืมสังเกตอาการที่คุณเป็นอยู่ หากเข้าข่ายอาการดังกล่าวเบื้องต้นอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัย เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะโรคดังกล่าวหากปล่อยทิ้งไว้นานในระยาวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย