โรคลมชัก ลมบ้าหมู อันตรายแบบไม่ทันตั้งตัว
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ทศพล สุรวัฒนาวงศ์
โรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาการแสดงไม่เพียงแต่มีการชักเกร็งกระตุกทุกส่วนของร่างกายเพียงอย่างเดียว ถ้ามีอาการเบลอ เหม่อลอย ตาค้าง วูบบ่อย ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักหรือลมบ้าหมูแบบไม่ทันตั้งตัวได้ โดยอาการเหล่านี้ไม่ควรมองข้าม หากปล่อยให้มีอาการลักษณะนี้บ่อยๆ และไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ความจำเลอะเลือนชั่วคราว หรือหากมีอาการกำเริบขึ้นกะทันหันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
สารบัญ
ทำความรู้จักโรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู
โรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู เกิดจากเซลล์สมองที่ทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้าและปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ระบบประสาทเกิดความผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมตนเองหรือเกิดอาการชักซ้ำๆ โดยอาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้น และอาการจะเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาไม่นาน มักเกิดขึ้นทันทีและหยุดเอง แต่ส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นซ้ำเรื่อย ๆ
สาเหตุของโรคลมชัก
โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- โรคทางพันธุกรรมที่มักมีอาการชักร่วมด้วย
- ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์
- อุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง
- การติดเชื้อในสมอง เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การติดเชื้อโปรโตซัวหรือพยาธิในสมอง
- ภาวะสมองขาดออกซิเจน
- เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่นๆ มาสู่สมอง
- เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ อุดตันเฉียบพลัน
- ไม่ทราบสาเหตุ ได้แก่ โรคลมชักที่ไม่พบรอยโรคในสมอง
อาการของโรคลมชัก
อาการของโรคลมชักมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติที่ส่วนใดของสมองและรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางอาการสังเกตได้ยากว่ามีอาการชักอยู่ โดยอาการชักมี ดังนี้
- อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว โดยการส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าจากส่วนลึกของสมองผิดปกติกระจายไปทั่วสมอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการชัก เกร็งกระตุกหมดสติทันทีทันใด กล้ามเนื้อลำตัวและแขนขาเกร็ง หยุดหายใจชั่วขณะ หน้าเขียว กัดลิ้น ปัสสาวะราด และหลับไป เมื่อตื่นรู้ตัวจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เพลีย ปวดศีรษะ บางรายยังไม่ตื่นก็เกิดอาการชักซ้ำ
- อาการชักเฉพาะที่ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย อาการชักที่เกิดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติบนผิวสมอง เช่น อาการกระตุกใบหน้า มุมปาก แขนหรือขา มีอาการชานอกจากนี้อาจมีอาการ เห็นแสงสว่างหรือเห็นเป็นรูปร่าง เห็นภาพหลอน คลื่นไส้ ปวดท้อง ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว หรือใจสั่น ใจหวิว หรือบางครั้งมีอาการเหม่นิ่ง เรียกไม่รู้สึกตัวพร้อมกับอาการเคี้ยวปาก มือคลำไปมาแบบไม่มีสาเหตุที่ต้องคลำ
การวินิจฉัยโรคลมชัก
การวินิจฉัยโรคลมชักนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะบางอาการของโรคลมชักก็ใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ เช่น โรคไมเกรน หรือภาวะเป็นลมหมดสติ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาในการตรวจและทดสอบจึงจะทราบผลที่แน่ชัด โดยแพทย์จะทำการซักถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการชักจากผู้ป่วย ถึงสิ่งที่จดจำได้ในขณะที่เกิดอาการ หรือสัญญาณเตือนต่างๆ รวมถึงสอบถามจากญาติผู้ป่วย เพื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งการตรวจเพิ่มเติม อาทิ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography, EEG) โดยจะติดสายไฟฟ้าในตำแหน่งต่างๆ บนศีรษะ เพื่อตรวจหาจุดที่ปล่อยไฟฟ้าผิดปกติในสมอง ช่วยวินิจฉัยโรคลมชัก และทำให้สามารถบอกตำแหน่งของสมองที่เกิดการชักและชนิดของการชักได้
- การตรวจเอกซเรย์ MRI Brain จะทำในบางรายที่มีอาการสงสัย ชัก ช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักได้ เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง เป็นต้น
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อหาจุดความผิดปกติของสมองที่ทำให้เกิดอาการชัก เช่น PET scan และ SPECT
- การตรวจเลือด หาสาเหตุทางพันธุกรรมในโรคลมชักบางชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
แนวการรักษาโรคลมชัก
โรคลมชักบางชนิดรักษาหายขาดได้ การรักษาแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคลมชักที่มาจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง ได้แก่
- การใช้ยากันชัก เพื่อช่วยกดสมองส่วนที่มีการปล่อยคลื่นลมชักออกมา ทำให้ไม่ชัก โดยปัจจุบันมียากันชักหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชัก แพทย์ก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
- การใช้อาหารสูตรพิเศษ แบบคีโตเจนิค ไดเอท (Ketogenic Diet) คือ อาหารที่มีสัดส่วนของไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และโปรตีนที่เพียงพอเหมาะสม
- การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในกรณีที่พบเนื้องอกในสมองหรือหลอดเลือดผิดปกติ หรืออาการชักที่ควบคุมไม่ได้ด้วยยากันชัก และตรวจเพิ่มเติมพบว่ามีจุดกำเนิดชัก ที่สามารถผ่าตัดออกได้
วิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นอาการชักเพิ่มขึ้น ได้แก่ อดนอน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ หรือ คาเฟอีน ความเครียด การทำงานหนัก หรือออกกำลังกายจนเหนื่อยมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอันตรายเมื่อมีอาการกำเริบได้ เช่น ขับรถ ว่ายน้ำ การขึ้นที่สูง การใช้ของมีคม การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลใหญ่ๆ งานช่างไฟ งานก่อสร้าง
- ดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ ออกกำลังกายให้พอเหมาะและสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไปพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อตรวจติดตามสาเหตุของอาการชักและตรวจอาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยากันชัก
- รับประทานยากันชักสม่ำเสมอและตรงตามคำแนะนำจากแพทย์ ไม่หยุดยาเอง
ทั้งนี้ การป้องกันโรคลมชักที่ดีที่สุด คือ การตรวจหาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ หากมีอาการที่อาจเป็นสาเหตุมาจากโรคลมชัก เช่น ความจำไม่ดีหรือสูญเสียความจำ เหม่อลอย วูบ เบลอ เคี้ยวปาก มือเกร็ง พูดติดขัด ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาททำการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมชัก และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้ สามารถส่งข้อมูลปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท