โรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน รักษาด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวด
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. พีรวัส สรรค์ธีรภาพ
ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบตันทำให้สมองขาดเลือดได้ ส่งผลให้เกิดอาการหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ได้หรือฟังไม่เข้าใจ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ หากมีอาการดังกล่าว ควรจะเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่รวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในการรักษา คือ การใช้บอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดคาโรติดและ/หรือใส่ขดลวด (Carotid Angioplasty and Stenting) เพื่อขยายหลอดเลือดแดงคาโรติดที่ตีบ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น โดยใช้เครื่องไบเพลน (Biplane DSA) เพิ่มศักยภาพในการรักษา และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สารบัญ
หลอดเลือดแดงคาโรติด คืออะไร
หลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery) เป็นหลอดเลือดที่ต่อมาจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ทรวงอกเชื่อมต่อไปยังสมอง มีทั้ง 2 ข้าง ประกอบไปด้วยหลอดเลือดแดงคาโรติดข้างซ้าย และหลอดเลือดแดงคาโรติดข้างขวา ทำหน้าที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าทั้งสองข้างซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสมองทั้งหมด นอกจากนี้เลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ เลี้ยงดวงตา เมื่อหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันจะทำให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลายหรือตายได้
สาเหตุหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
ภาวะหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบตัน มีสาเหตุุมาจากการสะสมของคราบหินปูน หรือคราบไขมันเกาะอยู่ภายในหลอดเลือด เมื่อมีการหนาตัวมากขึ้นจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรือทำให้เส้นเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่สามารถลำเลียงเลือดไปยังหลอดเลือดสมองได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ สูบบุหรี่ และไขมันในเลือด ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเผชิญกับโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
อาการหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
โรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน มีทั้งไม่มีอาการ และมีอาการแบบชั่วคราว และรุนแรงได้ โดยอาการที่มักพบ ได้แก่
- อาการสายตามัวชั่วคราวข้างเดียวเฉียบพลัน เกิดอาการประมาณ 1-5 นาที มักไม่เกิน 15 นาทีส่วนน้อยมากที่มีอาการเกิน 30 นาที
- อาการจะเข้าสู่ในระดับที่รุนแรง เช่น
- อยู่ดีๆ ก็พูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด หรือพูดไม่ชัดทันทีทันใด
- แขนขาหรือหน้าอ่อนแรงชา ขยับไม่ได้ขึ้นมาทันทีทันใด
- ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็นฉับพลันเห็นภาพซ้อน หรือเกิดอาการคล้ายมีม่านมาบังตา
- เคลื่อนไหวร่างกายช้าลงผิดปกติ เสียการทรงตัว
- เวียนศีรษะ งุนงง หรือหมดสติกะทันหัน
การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงคาโรติด
บื้องต้นแพทย์จะซักประวัติ และอาการที่เป็น การฟังเสียงการไหลของเลือดบริเวณหลอดเลือด แดงคาโรติดบริเวณลำคอโดยใช้หูฟังของแพทย์ พร้อมส่งตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่
- การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (Carotid Duplex Ultrasounds) เป็นการการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ตรวจหาคราบหินปูน ไขมันที่อยู่ตามบริเวณหลอดเลือดที่คอเพื่อตรวจดูการไหลเวียนเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง แล้วสร้างภาพและแสดงผลการตรวจ
- การสร้างภาพหลอดเลือดแดงโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Angiography: MRA) หรือ ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดง(CT angiogram)
- การฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดคาโรติด (Carotid Angiogram) เป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปดูในหลอดเลือดแดงโดยตรง
การรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติดหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบตัน
การรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติดหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบตัน ด้วยการถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด โดยหลังจากแพทย์ตรวจพบว่าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอที่ไปเลี้ยงสมองคาโรติดตีบมากกว่า 50% ร่วมกับมีอาการของอัมพาตชั่วคราว หรืออัมพาตถาวร เช่น ตามองไม่เห็น พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หรือผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่ตรวจพบว่าเส้นเลือดตีบรุนแรง >60% มีความเสี่ยงต่ออัมพาตสูง
แพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้บอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดคาโรติดและ/หรือใส่ขดลวด (Carotid Angioplasty and Stenting) เป็นการใส่บอลลูนผ่านทางสายสวนบริเวณขาหนีบไปจนถึงตำแหน่งที่ตีบตัน แล้วกางบอลลูนให้ขยายออกเบียดคราบไขมันหินปูนให้ชิดไปกับผนังเส้นเลือด ทำให้รูของเส้นเลือดเปิดกว้างขึ้น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น เพื่อป้องกันการขาดเลือดซ้ำ ในบางรายแพทย์จะใส่ขดลวดเล็ก ๆ ค้ำยันไว้ด้วยเพื่อป้องกันการตีบซ้ำในบริเวณนั้นโดยเครื่องไบเพลน (Biplane DSA) หรือ เครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ (Biplane Digital Subtraction Angiography) เป็นตัวช่วยที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน จึงช่วยให้แพทย์ทำหัตถการการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันโดยการทำบอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดได้ถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และแก้ไขได้ทันที ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยหลังทำพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1 วัน
ทั้งนี้หลังเข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน ควรเลิกสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ภาวะน้ำตาลในเลือด และเบาหวาน หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ และสามารถป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันได้ด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมไปถึงการและตรวจสุขภาพหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอร่วมด้วย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท