ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจากเส้นประสาทอักเสบ เสี่ยงเกิดจากติดเชื้อไวรัส

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ

ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจากเส้นประสาทอักเสบ เสี่ยงเกิดจากติดเชื้อไวรัส

หากตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับใบหน้า โดยมีอาการหลับตาไม่สนิท ยิ้มแล้วมุมปากตก อมน้ำแล้วมีน้ำไหลออกจากปาก เคืองตา หรือยักคิ้วไม่ขึ้น คุณเสี่ยงเป็นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ภาวะความผิดปกตินี้สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา


รู้จักโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ โดยมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เกิดการอักเสบ ซึ่งอยู่ตรงใบหน้าแต่ละข้างที่ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม หน้าบึ้ง หรือหลับตา รวมทั้งรับรสจากลิ้นและส่งต่อไปยังสมอง เกิดการอักเสบ ส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย ปากเบี้ยวถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

โดยการเกิดใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้น อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน อาจเกิดจากอุบัติเหตุ เนื้องอก หรือ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริม (Herpes simplex virus) งูสวัด (Herpes zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้


ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ใช่อัมพฤกษ์หรือไม่

ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ความผิดปกติอยู่ที่ตัวเส้นประสาทเอง ไม่ได้อยู่ในเนื้อสมอง หรือภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ตันแต่อย่างใด และโรคหลอดเลือดสมอง มักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย นอกจากการมีใบหน้าอ่อนแรงเพียงอย่างเดียว เช่น แขนขาอ่อนแรง ชาที่แขนขา มีอาการพูดไม่ชัด นอกจากนี้จะยังคงสามารถยักคิ้วและหลับตาได้สนิทในด้านเดียวกับที่มีมุมปากตก อย่างไรก็ตามหากมีอาการควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด


ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่

  • หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย และหลังคลอดบุตร
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
  • พฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีภาวะเครียดสูง ทำงานหนัก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการของโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยอาการจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละราย ส่วนใหญ่มักมีอาการมากขึ้นในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกจนถึง 1-3 วันแรก แต่บางรายอาจมีอาการเป็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ถึง 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

  • มีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้
  • ใบหน้าครึ่งซีกอ่อนแรงรู้สึกตึงหนักใบหน้าซีกนั้น
  • เวลาบ้วนน้ำหรือน้ำลายจะไหลออกมาทางมุมปากข้างนั้น
  • ตาข้างนั้นปิดได้ไม่สนิท เคืองตา ยักคิ้วไม่ขึ้น
  • อาจรู้สึกมีเสียงก้องๆ ในหูข้างที่เป็น
  • อาจพบความผิดปกติของการรับรสของลิ้นส่วนหน้าซีกที่เป็น


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจวินิจฉัยใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

แพทย์จะตรวจเพื่อวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก โดยแพทย์อาจตรวจร่างกาย เพื่อดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น หลับตา เลิกคิ้ว หรือฉีกยิ้ม รวมทั้งสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่นหรือไม่ รวมทั้งอาจจะมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตรวจเลือด การตรวจกราฟไฟฟ้าของเส้นประสาท การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจเอกซเรย์สมอง เป็นต้น


แนวทางการรักษาใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ และหายเป็นปกติภายใน 3-6 เดือน โดยแนวทางการรักษาใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ได้ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยา ได้แก่
    • กลุ่มสเตียรอยด์ สามารถลดการอักเสบของเส้นประสาทได้ รับประทานประมาณ 1 สัปดาห์
    • ยาฆ่าเชื้อไวรัส พิจารณาให้ในรายที่เห็นว่ามีอาการความสัมพันธ์กับเชื้อเริม งูสวัด
    • ยาป้ายตา ยาหยอดตาและใช้ผ้าปิดตาสนิทขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อบุตาอักเสบเนื่องจากอาการกระพริบตาที่ลดลง
  2. การทำกายภาพ ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นและไม่สามารถฟื้นตัวหลังได้รับการรักษา จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น
    • การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า และการนวดใบหน้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ยังอ่อนแรง การไหลเวียนของเลือดและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า
    • การประคบร้อนบริเวณใบหน้าซีกที่มีอาการ โดยใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาทีต่อครั้ง วันละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า แต่ควรระวังการประคบร้อนในรายที่มีอาการชาของใบหน้า
    • กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรงด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ มักใช้ในรายที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการ

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
  • ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ
  • สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง
  • ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท

ทดสอบหน้าเบี้ยว ด้วยตนเอง

  1. ยักคิ้วขึ้น 2 ข้าง โดยคิ้วต้องสูงเท่ากันหรือห่างต่างกันก็เพียงเล็กน้อย
  2. ปิดตาทั้ง 2 ข้าง โดยตาทั้งสองข้างต้องปิดสนิท ไม่เห็นตาขาว
  3. ยิ้มกว้าง โดยจะต้องยิ้มเท่ากันทั้งสองข้าง
อย่างไรก็ตามหากมีอาการหน้าชา การได้ยินลดลง อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก หรือมีอาการชาปลายมือ เท้า 2 ข้าง พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน เดินเซ ซึมลง สับสน อาการลามเป็นมากขึ้นทั้งสองข้าง ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยระดับความรุนแรงของอาการป่วย รวมทั้งเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย