3 โรคมะเร็งยอดฮิต พบบ่อยสุดในผู้หญิง

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย :

3 โรคมะเร็งยอดฮิต พบบ่อยสุดในผู้หญิง

ถ้าพูดถึงโรงมะเร็งยอดฮิตสำหรับผู้หญิง 3 อันดับ ที่ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อย สาวใหญ่ โรคที่เราพบได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2564) แม้ว่าสาวๆ หลายคนอาจจะคิดว่าตนเองดูแลสุขภาพดีแล้ว แต่นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ ส่วนจะมีปัจจัยอะไรบ้าง มีวิธีการป้องกันและรักษามะเร็งเหล่านี้อย่างไรไปอ่านกันได้เลย!


1. มะเร็งเต้านม

“มะเร็งเต้านม” เป็นโรคมะเร็งยอดฮิตที่พบในหญิงไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมากถึงร้อยละ 37 จากมะเร็งทั้งหมด ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40-45 ปี โดยสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่

  • เพศ - เพศหญิงจะเป็นมากกว่าชาย
  • อายุ - ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะเสี่ยงมากขึ้น
  • พันธุกรรม - มีญาติเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย (น้อยกว่า40ปี)
  • ประจำเดือนเริ่มมาตั้งแต่อายุน้อย (มาก่อนอายุ 12ปี)
  • หมดประจำเดือนช้า (อายุมากกว่า 55ปี แล้วประจำเดือนยังไม่หมด)
  • มีลูกคนแรกเมื่ออายุมากขึ้น (มากกว่า 30ปี)
  • การกินยาฮอร์โมนวัยทองหรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  • เคยได้รับการฉายรังสีที่หน้าอก

มะเร็งเต้านม มีอาการอย่างไร?

  • คลำเจอก้อนในเต้านม
  • มีของเหลวออกจากบริเวณหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเลือดจะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งยิ่งขึ้น
  • มีความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านม โดยผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม หรือมีรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือเต้านมผิดรูปร่างไปจากเดิม
  • ความผิดปกติของหัวนม เช่น เป็นแผลที่หัวนม และเจ็บเต้านม (ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่มักไม่เจ็บ) เป็นต้น

แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แสดงออกมาให้เห็นก็ อย่าชะล่าใจเป็นอันขาดนะคะ เพราะในผู้ป่วยบางรายตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมจากการทำแมมโมแกรม (Mammography) ซึ่งการตรวจนี้สามารถพบมะเร็งขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถคลำได้ แต่ต้องบอกก่อนว่าการทำแมมโมแกรมไม่เหมาะกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเนื้อเต้านมยังแน่น จึงอาจทำให้มองเห็นก้อนหรือสิ่งผิดปกติได้ไม่ชัด ในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้ทำอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เพียงอย่างเดียว โดยแพทย์จะทำการซักประวัติร่วมด้วย

เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยง ควรหมั่นตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ หรือผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโดยแพทย์ด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ตรวจเจอมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพราะยิ่งรู้เร็ว ย่อมรักษาได้ทันท่วงที และมีโอกาสหายขาดได้สูงขึ้น หรือหากต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมทั้งหมด ก็สามารถสร้างเต้านมใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยนำผิวหนังกล้ามเนื้อและไขมันมาสร้างเป็นเต้านม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ มีความสุข หมดปัญหาเรื่องขนาดหน้าอกที่ไม่เท่ากัน เป็นผลดีทั้งสุขภาพกายและใจ

> กลับสารบัญ


2.มะเร็งปากมดลูก

“มะเร็งปากมดลูก” อีกหนึ่งมะเร็งยอดฮิตที่พบในผู้หญิงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 12 คนต่อวัน ซึ่ง 80% ของผู้หญิงที่เป็นเร็งปากมดลูกอยู่ในช่วงอายุ 30-60 ปี โดยในประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณกว่า 8,000 คน


มะเร็งปากมดลูก เกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง?

  • เพศสัมพันธ์ พบว่าผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เร็ว มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกค่อนข้างสูง
  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อไวรัสเริม เชื้อไวรัส HVP ซึ่งมีอย่างน้อย 15 สายพันธุ์ ทำให้เซลล์ปากมดลูกเกิดความผอกปกติ และเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
  • สารบางอย่าง เช่น ฮอร์โมน DES, สาร Alkalate, รังสีรักษา เป็นต้น
  • อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  • อื่น ๆ เช่น อายุวัยกลางคน สถานะทางสังคมไม่ดี สูบบุหรี่ มีลูกมาก เป็นต้น

โดยอาการแสดงเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก คือ ระดูขาวมากผิดปกติ เลือดออกขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ และภายหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ในบางรายก็อาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น


การรักษามะเร็งปากมดลูก

ในระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง อาจแค่ใช้ไฟฟ้า เลเซอร์ หรือความเย็นจี้ทำลายเซลล์ที่กำลังจะเติบโตเป็นมะเร็งที่ปากมดลูก หรืออาจตัดปากมดลูกออกและเย็บกลับคืนตามเดิม เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก ยังไม่แพร่ไปอวัยวะใกล้เคียง แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะใกล้เคียงแล้ว เช่น ตัวมดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ตลอดจนเยื่อบุช่องท้อง การรักษาในระยะนี้จะใช้รังสีรักษาเป็นหลัก อาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดด้วย

ทั้งนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็ว มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต้องควรตรวจภายในทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือรอยโรคมะเร็งก่อนที่จะเกิดเซลล์ลุกลาม นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือที่เราเรียกว่า วัคซีนเอชพีวี (HPV Vaccine) ซึ่งปัจจุบันการฉีดวัคซีนเอชพีวีสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิดที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกได้ กล่าวคือเมื่อได้รับวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และสามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ปากมดลูก

การฉีดวัคซีนเอชพีวี ควรฉีด 3 เข็ม เข็มที่สอง ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน เข็มที่สาม ห่างจากเข็มที่สอง 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงควรฉีดวัคซีนในเด็กผู้หญิงอายุ 10-12 ปีขึ้นไป (ก่อนการมีเพศสัมพันธ์) และในผู้หญิงที่ไม่เคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ 100% เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากเชื้อเอชพีวีชนิดอื่นได้อีก

> กลับสารบัญ


3.มะเร็งลำไส้ใหญ่

““มะเร็งลำไส้ใหญ่””เป็นมะเร็งที่พบมากสุดเป็นลำดับ 3 ในเพศหญิง รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่

  • สภาพสิ่งแวดล้อม
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ซึ่งการบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงจนเป็นโรคอ้วน จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนปกติถึง 1.2 เท่า
  • พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไปก็มีโอกาสเสี่ยงด้วยเช่นกัน

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก ๆ อาจจะไม่มีอาการใด ๆ หรืออาจมีเพียงอาการปวดท้อง แน่นท้อง คล้ายโรคกระเพาะ เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะการขับถ่ายอาจเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากลำไส้อุดตัน เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมูกปนเลือด มีเลือดออกในอุจจาระเป็นเวลานาน ทำให้มีภาวะซีดได้ อุจจาระมีสีคล้ำคล้ายสีของเลือดหมู อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกัน บางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด เป็นต้น ด้านการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจเลือดในอุจจาระ และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งหากพบว่ามีก้อนเนื้องอก แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้องอกนั้นมาวินิจฉัยว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่ หากพบว่าเป็นมะเร็งจริง ก็จะต้องตรวจอีกว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระยะใด เพื่อทำการวางแผนการรักษาดูแลที่เหมาะสมต่อไป


การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดนำส่วนที่เป็นมะเร็งออก และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบันพบว่าการให้ยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถป้องกันการกลับมาของโรคได้ดีขึ้น แม้แต่ผู้ป่วยในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่โรคแพร่กระจายแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าไม่สามารถรักษาหรือทำอะไรได้แต่หากผู้ป่วยดูแลร่างกายให้แข็งแรง มีกำลังใจที่ดี และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ก็จะช่วยทุเลาความรุนแรงของโรค หรือช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

> กลับสารบัญ


วิธีการป้องกันจึงควรรับประทานอาหารที่มีเส้นกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง งดสูบบุหรี่ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยตรวจคัดกรองโรคด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) กรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย