กรดไหลย้อนเรื้อรัง ไม่หายขาด ทำอย่างไรดี

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สุขุมพันธ์ เก่าเจริญ

กรดไหลย้อนเรื้อรัง ไม่หายขาด ทำอย่างไรดี

อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาถึงอกหรือคอ รวมถึงมีอาการเรอเปรี้ยวขมในปากและรู้สึกจุกเสียดแน่นท้อง เป็นอาการหลักของกรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease) สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน โรคนี้ไม่สามารถหายได้ด้วยการรับประทานยาอย่างเดียว ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้มีอาการกำเริบด้วย แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรังไม่หายขาด อาจต้องตรวจด้วยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หรือแยกโรคอื่นๆ ออก


สาเหตุการเกิดโรคกรดไหลย้อน (GERD)

  1. หูรูดระหว่าหลอดอาหารและกระเพาะอาหารหลวมและคลายตัว ซึ่งปกติต้องรัดตัวแน่น ไม่ให้อาหารย้อนกลับขึ้นมาหลอดอาหารเวลาทานข้าว (Gastroesophageal junction incompetence)
  2. มีกรดหรือน้ำย่อยไหลย้อนจากกระเพาะขึ้นมาหลอดอาหาร (Acid or non-acid reflux)
  3. การบีบตัวของหลอดอาหารเพื่อขับกรดหรือน้ำย่อยไม่ดีพอ (Impaired esophageal acid clearance)
  4. เยื่อบุหลอดอาหารมีความไวต่อกรด ทำให้ระคายเคืองง่าย (Esophageal hypersensitivity)

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน

โรคนี้มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ พฤติกรรมการรับประทานแล้วนอนทันที ความอ้วน น้ำหนักเกินที่ทำให้มีความดันท้องเพิ่มมากขึ้น การรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว รสจัด รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ ก็จะทำให้อาการกำเริบได้


อาการกรดไหลย้อน

อาการที่พบบ่อยของกรดไหลย้อนมี แสบร้อนหน้าอก (heartburn) และเรอ (regurgitation) แต่กรดไหลย้อนก็สามารถมาได้ด้วยอาการอื่นๆ ได้หลายแบบ อาจแบ่งได้เป็น 4 แบบ ดังนี้

อาการด้านหลอดอาหาร

  1. มีเยื่อบุหลอดอาหารปกติ มีอาการแสบร้อน เรอเปรี้ยว (Typical reflux syndrome) และ แสบร้อนอก (Reflux chest pain syndrome)
  2. มีเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ อาจมีหลอดอาหารตีบ ภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) อาจมีเซลล์ผิดปกติ และมะเร็งหลอดอาหาร

อาการนอกหลอดอาหาร

  1. อาการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรดไหลย้อน ได้แก่ ไอจากกรดไหลย้อนมาระคายเคืองคอ เส้นเสียงอักเสบ หอบหืดกำเริบ ฟันผุ
  2. น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกรดไหลย้อนแต่ยังไม่ชัดเจน ได้แก่ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ มีพังผืดในปอด หูชั้นกลางอักเสบ

เป็นกรดไหลย้อน เมื่อไรถึงต้องตรวจเพิ่มเติม?

ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรังไม่หายขาด อาจจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หรือมีอาการที่บ่งชี้ดังนี้


เมื่อไรควรส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เมื่อไรควรตรวจ pH monitoring (ตรวจกรดไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร)
  • เพิ่งมีอาการกรดไหลย้อนหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มีเลือดออกทางเดินอาหาร (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายสีดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือมีภาวะโลหิตจาง)
  • เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กลืนติด กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บคอ
  • คลื่นไส้อาเจียนไม่หาย
  • มีประวัติมะเร็งในครอบครัว
  • รักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • เพื่อวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนที่แน่นอน เมื่อสงสัยโรคกรดไหลย้อน แล้วรักษาด้วยยา อาการไม่ดีขึ้น
  • ประเมินก่อนที่จะรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการผ่าตัด


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การรักษาโรคกรดไหลย้อน

การรักษาโรคกรดไหลย้อนให้หายขาด ไม่สามารถรักษาด้วยแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย โดยภาพรวมแล้ว แบ่งการรักษาเป็น 3 ส่วน คือ อาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต และยารักษา โดยรายละเอียดดังต่อไปนี้


อาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต ยารักษา
  1. ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารแบบไหนแล้วมีอาการ ให้หลีกเลี่ยงอันนั้น
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ เช่น อาหารรสจัด มัน ดอง
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม สุรา น้ำอัดลม กาแฟ
  4. ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ แต่ลดปริมานในแต่ละมื้อ (frequent small meals)
  5. หลีกเลี่ยงการทานปริมาณเยอะในมื้อเดียว (overeating)
  1. ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน
  2. ยกหัวเตียงสูงเวลานอน หรือนอนหนุนหมอน
  3. หลีกเลี่ยงการกินแล้วนอนภายใน 2-3 ชม.
  4. งดดื่มเหล้า
  5. งดสูบบุหรี่
  1. แพทย์จะให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  2. ยากระตุ้นการบีบตัวของทางเดินอาหาร
  3. ยาเคลือบกระเพาะ
  4. ยาคลายความเครียด

เมื่อไรถึงเรียกว่าเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรังไม่หายขาด (Refractory GERD)?

ผู้ป่วยที่มีอาการของกรดไหลย้อนอยู่ตลอด หลังกินยาลดกรดขนาดปกติ มากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์ อาการก็ยังไม่ทุเลา จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการไม่หายซักทีเป็นจากกรดไหลย้อนจริงๆที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือเป็นจากสาเหตุอื่นๆ โดยมีวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่มีอาการเรื้อรังไม่หาย ดังนี้

สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน ตามที่แพทย์แนะนำครบหรือยัง การจะรักษากรดไหลย้อนให้หายขึ้นกับยาซึ่งเป็นบทบาทของแพทย์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นบทบาทของผู้ป่วยร่วมกัน

ปรับยากรดไหลย้อน

  • ย้อนกลับไปดูว่ารับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยกรดไหลย้อน 40% ไม่ได้รับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง บางครั้งอาการดีขึ้นก็หยุดรับประทานก่อนทำให้รักษาไม่ต่อเนื่อง
  • ตรวจสอบว่าเราทานยาถูกต้องหรือไม่ ยาลดกรด (PPI) จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดถ้าทานก่อนมื้ออาหาร ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่รับประทานผิด คือ หลังอาหาร หรือก่อนนอน
  • ลองปรึกษาแพทย์เรื่องปรับยาลดกรด (PPI) สำหรับผู้ป่วยที่ทานยาลดกรดแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาขึ้นจากวันละหนึ่งครั้ง เป็นวันละสองครั้ง หรือเลือกเปลี่ยนตัวยาลดกรด เป็นยาลดกรดตัวอื่น (Switching PPI)
  • ปรึกษาแพทย์พิจารณาเพิ่มยากลุ่มอื่นๆ นอกจากลดกรดที่อาจจะช่วยลดอาการได้ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาโรคอื่น ๆ ที่อาจซ่อนอยู่ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางหลอดอาหารของโรคกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนอก เรอเปรี้ยว แนะนำให้ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาโรคอื่นๆ ที่อาจซ่อนอยู่ และทำให้เกิดอาหารเหล่านี้ได้ โดยประโยชน์อีกอย่างของการส่องกล้อง คือ ช่วยประเมินความรุนแรงของกรดไหลย้อน เช่น มีเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ประเมินหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารว่าหย่อนหรือไม่

ปรึกษาแพทย์หูคอจมูกหรือแพทย์โรคภูมิแพ้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอกหลอดอาหารของโรคกรดไหลย้อน เช่น กรดไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองคอเสียงแหบไอบ่อยแนะนำปรึกษาแพทย์หูคอจมูก หรือแพทย์โรคภูมิแพ้ มาช่วยตรวจว่าอาการดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อนไม่ได้มีโรคทางหูคอจมูกซ่อนอยู่

ตรวจดูด้วยเครื่องมือพิเศษว่ามีกรดหรือน้ำย่อยที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนขึ้นมาหรือไม่ (Reflux and pH monitoring) สำหรับผู้ป่วยที่ดูแลรักษาตัวและตรวจตามขั้นตอนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ยังตรวจไม่เจออะไรและอาการกรดไหลย้อนยังไม่หายแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจวิธีนี้เพิ่มเติม การตรวจด้วยวิธีนี้อาจได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง เช่น

  • มีกรดไหลย้อนขึ้นมาทางเดินอาหารจริงหรือไม่
  • ถ้าไม่มีกรดไหลย้อน มีน้ำย่อยหรืออย่างอื่นที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนขึ้นมาหรือไม่
  • หลังทานยาลดกรดแล้วยาสามารถยับยั้งกรดได้หรือไม่
  • กรดหรือน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาสัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยหรือไม่
  • ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลช่วยเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การรักษากรดไหลย้อนควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะแต่ละคนอาจมีรายละเอียดของโรคที่ไม่เหมือนกัน หากมีอาการที่บ่งบอกถึงโรคนี้อย่าปล่อยไว้เรื้อรัง ควรเข้ามาพบแพทย์ครับ




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย