กระดูกหัก ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงพิการได้
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด เชื่อแน่ว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทั้งกับตัวเองและคนที่รักอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการกระแทกอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูก จนทำให้เกิดภาวะกระดูกหัก ถึงแม้ว่าจะไม่ร้ายแรงถึงชีวิตก็ตาม แต่การรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจนำมาซึ่งความพิการถาวรได้
ภาวะกระดูกหัก
ภาวะที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากเกินไป ส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากแรงดังกล่าวได้ และเกิดหัก กระดูกจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยแคลเซียมและเซลล์กระดูก ตรงกลางเป็นไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง กระดูกแต่ละส่วนจะประกอบกันเป็นโครงสร้างกระดูกที่รองรับร่างกาย ช่วยในการเคลื่อนไหว และปกป้องอวัยวะภายในของร่างกาย หากร่างกายได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง จะส่งผลให้กระดูกแตกหรือหักได้
ชนิดและลักษณะของกระดูกหัก
กระดูกหักจะมีทั้งแบบชนิดไม่มีแผล คือผิวหนังไม่ได้รับบาดเจ็บ และกระดูกหักแบบที่แผลเปิด มีกระดูกทิ่มหักออกมานอกผิวหนัง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง นอกจากนี้ ยังแบ่งออกเป็นตามลักษณะของกระดูกหักอีกหลายประเภท ดังนี้
- กระดูกยุบตัว (Compression Fracture) คือ กระดูกเกิดการยุบตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
- กระดูกหักเป็นเกลียว (Spiral Fracture) คือ กระดูกที่หักเป็นเกลียว ซึ่งเกิดจากกระดูกถูกบิด
- กระดูกเดาะ (Greenstick Fracture) คือ กระดูกบางส่วนหัก ส่วนกระดูกอีกด้านโก่ง มักเกิดขึ้นกับเด็ก
- กระดูกแตกย่อย (Comminuted Fracture) คือ กระดูกหักแตกออกเป็นชิ้นๆ
- กระดูกหักตามขวาง (Transverse Fracture) คือ กระดูกที่แตกออกตามแนวขวางซึ่งเป็นส่วนที่สันของกระดูก ไม่ได้เกิดรอยแตกไปตามแนวยาวของกระดูก
- กระดูกหักเฉียง (Oblique Fracture) คือ กระดูกที่เกิดการแตกเป็นแนวโค้งหรือลดหลั่นลงมา
- ปุ่มกระดูกแตก (Avulsion Fracture) คือ กระดูกที่หักจากแรงกระชาก มักพบที่หัวไหล่และหัวเข่า
- กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted Fracture) คือ กระดูกแตกทั้ง 2 ด้านจากแรงกด
- กระดูกหักล้า (Stress Fracture) คือ กระดูกที่ปริออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำๆ พบมากในผู้ที่เล่นกีฬา
- กระดูกหักผ่านรอยโรค (Pathologic Fracture) คือ กระดูกหักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระดูกหรือการป่วยเป็นโรคที่ทำให้มวลกระดูกเสื่อมลง
อาการกระดูกหัก
อาการกระดูกหักอาจแตกต่างกันไปตาม อายุและสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ตลอดจนความรุนแรงของการบาดเจ็บ โดยทั่วไปมักมีอาการ ดังนี้ ปวดกระดูกหรือรอบๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวอาการจะแย่ลง ไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณที่บาดเจ็บได้ เกิดอาการบวมบริเวณกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บ เกิดรอยช้ำและเลือดออกจากผิวหนัง สีผิวรอบๆ เปลี่ยน อาจจะทำให้กระดูกงอผิดรูป รู้สึกชา และเกิดเหน็บชา เมื่อมีแผลเปิดร่วมด้วยอาจเห็นกระดูกทะลุออกมา
กระดูกหักส่วนไหนที่พบบ่อย
กระดูกหัก พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ บริเวณกระดูกที่หักบ่อย ได้แก่ กระดูกแขน กระดูกขา กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ กระดูกข้อเท้า กระดูกต้นขา เป็นต้น
- กระดูกแขนหัก มักเกิดจากการรับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้กระดูกแตกออกจากกัน ทำให้แขนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีอาการปวด บวม หรือกระดูกบริเวณแขนผิดรูป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการหกล้มในท่าที่แขนหรือศอกได้รับแรงกระแทกโดยตรง อุบัติเหตุทางรถยนต์หรือยานพาหนะอื่นๆ การเล่นกีฬาที่ส่งผลให้เกิดบาดแผล
- กระดูกขาหัก อาจเป็นผลมาจากอุบัติเหตุการหกล้มทางรถยนต์ หรือจากจากการเล่นกีฬา และในผู้ที่ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะพบว่ามีการกระดูกขาหักได้ง่ายเมื่อได้รับการกระแทก
- กระดูกสะโพกหัก มักพบในผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของกระดูก หรือผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำในขาและปอด ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็ว การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและกระแสเลือด เป็นต้น
วินิจฉัยกระดูกหัก
โดยปกติแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยตรวจบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บและเอกซเรย์กระดูกผู้ป่วย แต่ในบางรายที่ไม่พบความผิดปกติหลังจากการเอกซเรย์ อาจจะต้องใส่เฝือกอ่อนดามกระดูกไว้ก่อนประมาณ 10-14 วัน ค่อยกลับมาเอกซเรย์อีกครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยกระดูกหักจะพบรอยได้อย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการตรวจเพิ่มเติมอีกเพื่อดูว่า เนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบกระดูกนั้นเกิดความเสียหายหรือไม่ จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์และวางแผนรักษา เพื่อให้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผู้ป่วย
กระดูกหักรักษาได้
แนวทางการรักษากระดูกหักขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของกระดูกหัก ตำแหน่งของกระดูกหัก อายุ และดุลพินิจของแพทย์ โดยการรักษาจะมี 2 แบบ ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ใช้วิธีการเข้าเฝือกโดยจัดเรียงแนวกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติก่อนใส่เฝือกเพื่อพยุงกระดูกบริเวณที่เกิดอาการหัก มักใช้กับกระดูกส่วนแขนหรือขาท่อนล่าง
- การรักษาแบบผ่าตัด จะทำก็ต่อเมื่อผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักร้ายแรง มีความเสียหายที่ผิวหนังอาจจะต้องทำศัลยกรรมเพิ่มเติม การหักของกระดูกผ่านผิวข้อและเกิดการเคลื่อนของผิวข้อ กระดูกสะโพกหัก การหักของกระดูกแขน 2 ท่อน เป็นต้น ทั้งนี้ ระหว่างเข้ารับการผ่าตัดแผล แพทย์อาจใส่หมุด แผ่นเหล็ก สกรู หรือกาว เพื่อยึดกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อได้รับการจัดเรียงกระดูกแล้ว แพทย์จะให้ใส่เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูก หรือใช้วิธีตรึงกระดูก เพื่อลดอาการปวดและรักษากระดูกหัก
กระดูกหักเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้ประสบภาวะดังกล่าว ทั้งการระมัดระวังในการเล่นกีฬา ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถหรือโดยสารรถยนต์ สวมอุปกรณ์ที่ป้องกันการกระแทก รวมทั้งการเพิ่มความแข็งแรงและสมดุลให้มวลกระดูก โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ