การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ช่วยวินิจฉัยโรคลมชักอย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ทศพล สุรวัฒนาวงศ์

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ช่วยวินิจฉัยโรคลมชักอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการชัก เช่น การเกร็งกระตุกเฉพาะที่เป็น ๆ หาย ๆ ใจหวิว มีอาการเหม่อ เคี้ยวปาก มือคลำ หรือหมดสติชั่วคราวโดยไม่ทราบสาเหตุ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography, EEG) จะเป็นการตรวจที่ช่วยวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยจำแนกชนิดของโรคลมชักได้ โดยการตรวจนี้สามารถนำไปวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การตรวจไม่มีความเสี่ยงและอันตรายต่อผู้ป่วย หากมีอาการชักสามารถเข้ามารับการตรวจ EEG ได้


การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นอย่างไร

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography, EEG) เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์สมอง เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์สมองที่ส่งออกมาในลักษณะคลื่นไฟฟ้าที่มีความถี่และความสูงต่ำของคลื่นต่อเนื่องเป็นกราฟบนจอภาพ ซึ่งจะแปลผลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคลมชักว่าปกติหรือผิดปกติแบบใดและที่บริเวณใดของสมอง

> กลับสารบัญ


ประโยชน์ของการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคลมชักและจำแนกชนิดของโรคลมชักซึ่งมีผลต่อการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับโรคลมชักแต่ละประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถบอกความผิดปกติของการทำงานหรือความผิดปกติของเนื้อสมองแบบคร่าว ๆ ได้ และยังสามารถช่วยวินิจฉัยอาการซึมของผู้ป่วยที่ยังทราบสาเหตุแน่ชัดได้ เช่น อาการซึมจากภาวะไตวาย อาการซึมจากการที่มีชักแบบไม่แสดงอาการซ่อนอยู่ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ใครบ้างที่ควรมาตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

  1. ผู้ที่มีอาการชักเกร็งกระตุกทั่วตัว
  2. ผู้ที่สงสัยว่าอาการดังกล่าวใช่ชักหรือไม่ เช่น มีอาการเกร็งกระตุกเฉพาะที่ มีอาการใจหวิวเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการเดจาวูบ่อย ๆ อาการได้กลิ่นไหม้เป็น ๆ หาย ๆ ได้ยินเสียงแว่ว ๆ หรือมีอาการเหม่อ เคี้ยวปาก มือคลำ
  3. อาการหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  4. ผู้ที่ถูกวินิจฉัยเป็นโรคลมชักอยู่แล้วแต่ต้องการทราบว่าชักออกจากสมองส่วนไหนหรือต้องการถอยหรือหยุดยากันชัก

> กลับสารบัญ


ก่อนการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เตรียมตัวอย่างไร

  1. ผู้ป่วยรับประทานยากันชักตามปกติ ห้ามหยุดยากันชัก ยกเว้นในกรณีแพทย์เป็นผู้แนะนำ
  2. เช้าวันที่ตรวจ ควรสระผมให้สะอาด โดยที่ไม่ต้องใช้ครีมนวดผม และเช็ดผมให้แห้งก่อนตรวจ และไม่ควรใส่น้ำมันแต่งผม เจลแต่งผม หรือฉีดสเปรย์
  3. รับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนการตรวจการทำงานของเซลล์สมอง

  1. ติดอุปกรณ์ (Electrodes) บนหนังศีรษะตามระบบมาตรฐานการตรวจ
  2. บันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองพร้อมวิดีโอ
  3. ใช้แสงไฟกระพริบที่ความถี่ต่าง ๆ กระตุ้น
  4. ให้ผู้เข้ารับการตรวจหายใจเข้าลึก ขณะบันทึกหายใจออกเร็วและแรง ทำต่อเนื่องนาน 3 นาที
  5. อ่านและแปลผลโดยแพทย์เฉพาะทาง
  6. ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที

> กลับสารบัญ


การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ไม่อันตราย ไม่มีความเจ็บปวด ฉะนั้นหากมีข้อบ่งชี้ที่ต้องตรวจ หรือมีอาการชัก แนะนำให้เข้ามาตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยสามารถสอบถามและปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย