การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านม

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม, ศูนย์รักษ์เต้านม

บทความโดย : นพ. ธราดล เล็กสุพรรณโรจน์

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย โดยผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เร็วและอาจมีความรุนแรงกว่าผู้สูงอายุ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ของครอบครัว ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นโดยที่เราอาจไม่ทราบมาก่อน ฉะนั้นนอกจากการตรวจพันธุกรรมก่อมะเร็ง และการตรวจโดยแพทย์แล้ว การเฝ้าระวังอาการที่สงสัยมะเร็งเต้านม (Breast awareness) ร่วมกับ การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination: BSE) เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ทำได้ง่ายที่สุด


อาการแสดงของมะเร็งเต้านม

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การตรวจพบให้เร็วที่สุด ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

  • มีก้อนที่เต้านม
  • มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม
  • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัวหนาผิดปกติ บางส่วนเป็นสะเก็ด
  • หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
  • มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม
  • เจ็บเต้านม (มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว เกิดเนื้อตาย มีการอักเสบติดเชื้อ
  • การบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

> กลับสารบัญ


การดูแลและเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านม

การดูแลและเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การตรวจโดยแพทย์ การตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ทำในผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี โดยสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ทำในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ง่าย ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถทำเองได้ คือ การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination: BSE) เป็นหนึ่งในวิธีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านมที่ทำได้ง่ายที่สุด โดยผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปควรทำเดือนละ 1 ครั้ง

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination: BSE) เป็นสิ่งแรกที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเฝ้าระวังตนเองจากมะเร็งเต้านม การตรวจเต้านมด้วยตนเองเพื่อให้รู้สึกถึงธรรมชาติของเต้านมตนเอง และเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะสังเกตได้ด้วยตนเอง ดังนี้

1. 3 ท่าการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
1.1 ยืนหน้ากระจก
  • ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  • ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอว พร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ
  • ให้โค้งตัวมาด้านหน้า โดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่าหรือ เก้าอี้ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรง ๆหากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น
ท่าตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
1.2 นอนราบ
  • นอนในท่าสบาย ตรวจเต้านมขวาให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา
  • ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกที่มีเนื้อนมหนา มากที่สุดและมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
  • ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ และทำวิธีเดียวนี้กับเต้านมซ้าย
ท่าตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
1.3 ขณะอาบน้ำ
  • สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ และใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่คุณใช้ในท่านอน
  • สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่างส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำจากด้านบน
ท่าตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
2. วิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองโดยการคลำ 3 แบบ
วิธีการคลำอาจใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไปนี้
2.1 การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มจากการคลำส่วนบนของเต้านมบริเวณลานนมไปตามแนวก้นหอยจนกระทั่งถึงฐานเต้านมบริเวณรักแร้ ท่าตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
2.2 การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงเต้านม ท่าตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
2.3 การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้ เริ่มคลำจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสาม คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม ท่าตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

> กลับสารบัญ


ผู้หญิงกับการดูแลเต้านมด้วยตนเอง

  1. อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
  2. ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ คือ นับจากประจำเดือนหมดประมาณ 7-10 วัน ส่วนสตรีวัยที่หมดประจำเดือนให้กำหนดวันที่จดจำง่าย และตรวจในวันเดียวกันของทุก ๆ เดือน
  3. ก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านมอาจไม่ใช่ถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดาเสมอไป อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  4. สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

> กลับสารบัญ



การเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านม ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการตรวจด้วยวิธีการทางการแพทย์เป็นประจำทุกปี เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากมะเร็งเต้านมหากพบในระยะแรก มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้สูงที่สุด สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ได้



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย