ผ่าตัดไส้เลื่อน รักษาที่ต้นเหตุ ทางเลือกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม
บทความโดย : นพ. ปริญญ์ เอธภาวิน

คุณกำลังรู้สึกถึงความไม่สบายบริเวณขาหนีบใช่ไหม? อาการปวดหน่วง ๆ หรือก้อนที่สัมผัสได้ อาจเป็นสัญญาณของ "ไส้เลื่อน" ภาวะที่สร้างความกังวลและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลนครธน เราเข้าใจถึงความสำคัญของการกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดไส้เลื่อนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราพร้อมมอบการรักษาที่ ตรงจุด รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับคุณ
สารบัญ
ไส้เลื่อนมีทั้งหมดกี่ประเภท?


ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่อวัยวะภายในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เคลื่อนตัวหรือดันทะลุผ่านผนังกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่อ่อนแอ ซึ่งปกติแล้วจะทำหน้าที่กั้นและประคองอวัยวะนั้น ๆ ไว้ โดยไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทตามตำแหน่งที่เกิด ดังนี้
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ตำแหน่งที่พบไส้เลื่อนได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้ชาย ซึ่งอาจเลื่อนไปยังถุงอัณฑะหรือต้นขาได้
- ไส้เลื่อนที่สะดือ มักเป็นมาตั้งแต่กำเนิดจากการปิดตัวไม่สมบูรณ์ของผนังหน้าท้อง
- ไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัด เป็นผลจากการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแอและเกิดการเคลื่อนตัวของอวัยวะภายใน
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ พบได้น้อยกว่าไส้เลื่อนที่ขาหนีบ มักมีอาการปวดบริเวณต้นขาและอาจมีอาการปวดร่วมที่ขาหนีบ
ทำไมถึงต้องผ่าตัดไส้เลื่อน?
การผ่าตัดไส้เลื่อนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น การติดค้างและการขาดเลือดของอวัยวะที่เลื่อนออกมา ซึ่งต้องการการรักษาฉุกเฉิน นอกจากนี้ การผ่าตัดยังช่วยบรรเทาอาการปวดและความรู้สึกไม่สบายที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ไส้เลื่อนมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้การผ่าตัดในภายหลังมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น
การผ่าตัด ไส้เลื่อนจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ช่วยป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต สำหรับผู้ที่มีไส้เลื่อน การผ่าตัดถือเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ในระยะยาวที่ดีที่สุด ทั้งนี้การตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินความเหมาะสมและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
การผ่าตัดไส้เลื่อนแต่ละวิธีเป็นอย่างไร?


การผ่าตัดไส้เลื่อนไม่ใช่แค่การรักษาอาการ แต่เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยการผ่าตัดไส้เลื่อน มีกี่แบบ โดยมี 2 แบบ ดังนี้
การผ่าตัดส่องกล้อง
การตัดผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ผ่านทางหน้าท้อง โดยทั่วไปจะมีจำนวน 2-3 รู แต่ละรูมีขนาดประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ตำแหน่งของรูจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของไส้เลื่อน ศัลยแพทย์จะระบุตำแหน่งของไส้เลื่อนและดันอวัยวะที่เลื่อนออกมากลับเข้าไปในช่องท้อง จากนั้นจะทำการเสริมความแข็งแรงให้กับผนังหน้าท้องบริเวณที่อ่อนแอ โดยทุกรายใช้แผ่นตาข่ายทางการแพทย์ (Mesh graft) สังเคราะห์พิเศษ ปิดทับและเย็บตรึงไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำ
สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ ให้ผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก สามารถฟื้นตัวได้ในระยะสั้น เสียเลือดน้อย ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด โดยทั่วไประยะเวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาลจะสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิด มักจะอยู่ที่ 1-2 วัน กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว
การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง คือ ศัลยแพทย์จะทำการกรีดเปิดแผลบริเวณไส้เลื่อน โดยขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของไส้เลื่อน โดยทั่วไปจะมีขนาดยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หรืออาจยาวกว่านั้นในบางกรณี เพื่อเข้าไปทำการซ่อมแซมส่วนที่ผนังหน้าท้องอ่อนแอ และดันอวัยวะที่เลื่อนออกมากลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม ใช้แผ่นสังเคราะห์พิเศษ ตาข่ายทางการแพทย์ จากนั้นจึงเย็บปิดผนังหน้าท้องให้แข็งแรงขึ้น

วิธีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยทั่วไป แพทย์และพยาบาลจะให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล แต่โดยหลัก ๆ แล้ว มีขั้นตอนการเตรียมตัวดังนี้
- แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นไส้เลื่อน และประเมินสุขภาพโดยรวมของคุณ
- แพทย์อาจสั่งตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนการผ่าตัด
- หยุดรับประทานยาบางชนิดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาบางชนิดสำหรับโรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด (รวมถึงน้ำเปล่า) อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะสำลักขณะดมยาสลบ
- งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เนื่องจากมีผลต่อการหายของแผลและการฟื้นตัว
- อาบน้ำให้สะอาดในคืนก่อนวันผ่าตัด หรือเช้าวันผ่าตัด โดยเน้นบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
เทคนิคการผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นอย่างไร?
การผ่าตัดไส้เลื่อนสามารถแบ่งรูปแบบตามเทคนิคที่ใช้ได้ดังนี้
1. การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery)- Herniotomy เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดที่เน้นการ เลาะ ผูกและตัดถุงไส้เลื่อนออก โดยไม่ได้เน้นการซ่อมแซมผนังหน้าท้อง มักจะใช้ในการรักษาไส้เลื่อนในเด็กเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากผนังหน้าท้องในเด็กยังแข็งแรงและมีโอกาสน้อยที่จะเกิดความอ่อนแอเพิ่มเติม
- Herniorrhaphy คือ เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดที่เน้นการ ซ่อมแซม ผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ โดยศัลยแพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณไส้เลื่อน ดันอวัยวะที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไป และเย็บซ่อมแซมบริเวณที่อ่อนแอ เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับไส้เลื่อนในผู้ใหญ่ เนื่องจากผนังหน้าท้องของผู้ใหญ่มักจะมีความอ่อนแอ การผ่าตัดจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องด้วยการเย็บซ่อมแซม เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ
- Hernioplasty คือ การผ่าตัดซ่อมแซมไส้เลื่อน โดยการใช้แผ่นสังเคราะห์ หรือตาข่ายทางการแพทย์ ทำหน้าที่เสมือนผนังหน้าทองเทียมเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผนังหน้าท้อง
2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery)
Laparoscopic Hernioplasty เป็นการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคส่องกล้อง ซึ่งจะมีการเจาะรูเล็ก ๆ บนหน้าท้อง และใช้กล้องและเครื่องมือขนาดเล็กในการผ่าตัดเข้าไปซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง มักจะใช้แผ่นสังเคราะห์ หรือ ตาข่ายทางการแพทย์ (Mesh) เสมอ โดยแบ่งเป็น
- TEP (Totally Extraperitoneal) เป็นการผ่าตัดโดยเจะรูเข้าผนังช่องท้อง โดยไม่เข้าไปในช่องท้อง วาง Mesh ที่ชั้นหน้าเยื่อบุช่องท้อง
- TAPP (Transabdominal Preperitoneal) เป็นการเจาะรูผ่านผนังช่องท้อง โดยเข้าสู่ช่องท้องก่อน แล้วเลาะเปิดเยื่อบุช่องท้อง วาง Mesh ที่ชั้นหน้าเยื่อบุช่องท้อง เย็บปิดเยื่อบุช่องท้อง
- IPOM เป็นการเจาะรูผ่านผนังช่องท้อง โดยเข้าสู่ช่องท้อง แล้วาง Mesh พิเศาที่สัมผัสลำไส้ได้ ที่ชั้นหลังเยื่อบุช่องท้อง ภายในช่องท้อง เย็บปิดเยื่อบุช่องท้อง
วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อน
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนมีความสำคัญมากต่อการฟื้นตัวอย่างราบรื่น ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของไส้เลื่อน โดยคําแนะนํา หลังผ่าตัดไส้เลื่อนมีดังนี้
- หลังผ่าตัดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือและเช็ดให้แห้ง
- สังเกตอาการบวม แดง ร้อน มีน้ำเลือง หรือมีเลือดไหลออกจากแผล หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงการทำให้แผลเปียกน้ำ หรือทำแผลปิดแผ่นกันน้ำ จะอาบน้ำได้ โดยทั่วไปควรงดอาบน้ำทั้งตัวในช่วง 2-3 วันแรก และอาจต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวแทน
- อย่าแกะ เกา หรือสัมผัสแผลโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากมีอาการปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งได้
- งดยกของหนักอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์
- เริ่มขยับตัวและเดินเบา ๆ ภายในบ้านตามกำลังที่ไหว
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น การไอ จาม หรือเบ่งแรง ๆ หากจำเป็นต้องไอหรือจาม ให้ใช้มือประคองบริเวณแผล
- ช่วงแรกหลังผ่าตัด ควรเลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ผ่าตัดไส้เลื่อน ชีวิตใหม่ ไร้กังวลเรื่องไส้เลื่อน
อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคุณอีกต่อไป ผ่าตัดไส้เลื่อน โรงพยาบาลไหนดี ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลรักษาไส้เลื่อนด้วยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยเทคนิค MIS (Minimally Invasive Surgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดส่องกล้องที่ให้แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวระยะสั้น ด้วยห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีความปลอดภัย รวดเร็ว และแม่นยำ ทำให้การรักษาไส้เลื่อนที่โรงพยาบาลนครธนมีประสิทธิภาพสูงสุด เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลและติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม