การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy)
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์
หากคุณมีอาการต่อไปนี้ อาจเสี่ยงความผิดปกติที่โพรงมดลูก
- มีประจำเดือนมาน้อย หรือ มากแบบผิดปกติ
- มีภาวะแท้งบุตรซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- สงสัยว่ามีเนื้องอกหรือมีติ่งเนื้อภายในโพรงมดลูก
แม้ว่าการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการวินิจฉัยความผิดปกติของมดลูก แต่ในกรณีที่สงสัยว่าความผิดปกตินั้นอยู่ภายในโพรงมดลูก การตรวจยืนยันด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy) นับว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติและลักษณะทั่วๆ ไปของโพรงมดลูกได้ดีที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติในโพรงมดลูกเป็นเรื่องที่สะดวก แม่นยำ เจ็บปวดน้อยและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
สารบัญ
- ผู้ที่ควรได้รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก
- ขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยมีอย่างไรบ้าง
- การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy) คืออะไร
- ข้อดีการตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy)
- การเตรียมตัวส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
- ใครที่ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้
- ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ที่ควรได้รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก
- สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ
- สตรีที่ได้รับการตรวจอัลตราซาวน์มดลูกแล้วสงสัยว่ามีเนื้องอกหรือมีติ่งเนื้อภายในโพรงมดลูก
- สตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูก
- สตรีที่มีมดลูกผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก (Septate uterus)
- สตรีที่มีภาวะแท้งบุตรซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
- สตรีที่มีบุตรยาก
- สตรีที่มีประวัติมีประจำเดือนมาน้อยมากหรือไม่มีประจำเดือน
- สตรีที่ใส่ห่วงอนามัยมานานและไม่สามารถดึงสายห่วงออกได้ตามปกติ
- สตรีที่มีประจำเดือนออกมาก โดยไม่พบพยาธิสภาพจากการตรวจภายนอกมดลูก
- สตรีที่ไม่ตั้งครรภ์หลังจากแท้งบุตรและได้รับการขูดมดลูก
- สตรีที่ปวดประจำเดือนรุนแรงร่วมกับสงสัยว่ามีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก
- สตรีที่ไม่ตั้งครรภ์จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว และย้ายตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีไปแล้วตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป
ขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยมีอย่างไรบ้าง
การตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจภายใน โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยขึ้นนอนที่ขาหยั่งเหมือนตรวจภายใน ใส่อุปกรณ์เพื่อให้เห็นปากมดลูก หลังจากนั้นแพทย์จะค่อยๆ ส่องกล้องขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเข้าไปยังโพรงมดลูก เพื่อให้เห็นความผิดปกติภายในโพรงมดลูก โดยการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ในบางรายที่พบความผิดปกติ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา และวางแผนการรักษาต่อไป อาจใช้ระยะเวลาตรวจที่นานขึ้นได้
ซึ่งวิธีการตรวจวินิจฉัยนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในโพรงมดลูก เช่น สงสัยว่ามีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้องอก มีเลือดออกผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ วินิจฉัยและค้นหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์อาจตรวจโพรงมดลูกก่อนที่จะนำตัวอ่อนเข้าไปฝัง เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพโพรงมดลูกไม่มีความผิดปกติที่ขัดขวางโอกาสการฝังตัวของตัวอ่อน
โดยปกติทั่วไป ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูกนั้น พบได้น้อยมาก แต่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การอักเสบติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือท่อนำไข่อยู่แล้ว รวมถึงอาการปวดท้องน้อย ซึ่งสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หลังจากการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติหลังการตรวจ แต่แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 3-5 วัน
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy) คืออะไร
เป็นวิธีการตรวจโดยใช้กล้องเล็กๆ สอดเข้าทางปากมดลูก ซึ่งสามารถเห็นความผิดปกติภายในโพรงมดลูก ผ่านหน้าจอแสดงผล ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายตามปกติ การอัลตราซาวด์ และการเอกซเรย์ เช่น มีเลือดระดูผิดปกติ มีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกเล็กๆ ในโพรงมดลูก พังผืด ความผิดปกติของรูปร่างของมดลูก มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดระดู และวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น
ข้อดีการตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy)
การตรวจโพรงมดลูกสามารถทำด้วยวิธีการอื่นได้ เช่น การขูดมดลูกหรือการใช้ท่อเล็กๆ เข้าไปดูดเซลล์เพื่อนำไปตรวจ ซึ่งวิธีการเหล่านี้แพทย์ไม่สามารถมองเห็นพยาธิสภาพของโพรงมดลูกได้โดยตรง ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งแพทย์สามารถเห็นภาพความผิดปกติได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อได้ตรงกับตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ นอกจากนี้ การตรวจด้วยวิธีการนี้ยังสะดวกสบาย และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกแบบปกติ (Hysteroscopy) เพราะผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือดมยาสลบก่อนการส่องกล้อง
การเตรียมตัวส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
ในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ในบางกรณี แพทย์อาจให้ยาอมใต้ลิ้นเพื่อให้ปากมดลูกขยายตัวประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ แต่ควรเลือกช่วงเวลาตรวจที่ประจำเดือนหมดสนิทไปแล้ว 5 - 7 วัน และตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ ในกรณีพยาธิสภาพมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจต้องนัดทำการผ่าตัดพยาธิสภาพในโพรงมดลูกในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนเข้ารับการรักษา อย่างน้อย 6 ชั่วโมง และเตรียมผ้าอนามัยมาด้วย
ใครที่ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็กนี้ ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานหรือท่อนำไข่
หากมีอาการปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ หรือพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดมากหรือนานกว่าปกติ ตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น และมีไข้สูง เป็นต้น อย่าเพิกเฉยหรืออดทนต่อความเจ็บปวด จนกระทั่งลุกลามเกิดปัญหาในโพรงมดลูก ถ้าไม่แน่ใจให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้