มะเร็งปากมดลูก รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เพื่อดูแลสุขภาพของผู้หญิง
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง รองมาจากมะเร็งเต้านม ในแต่ละปีพบว่าผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งสูงถึง 10,000 คน สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV : Human Papillomavirus) เชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้เชื้อเอชพีวีมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สำหรับผู้หญิง สายพันธุ์ 16 และ 18 สองสายพันธุ์นี้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% แต่มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
สารบัญ
มะเร็งปากมดลูก คืออะไร?


มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูกมีการเจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ และสามารถลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 โดยในระยะแรกของมะเร็งปากมดลูก มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองป่วย ซึ่งการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก และ การฉีดวัคซีน HPV มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงทุกคน เพื่อให้สามารถตรวจพบและรักษาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาการมักจะปรากฏขึ้นหลังจากที่มะเร็งปากมดลูกเข้าสู่ระยะลุกลามโดยหากพบอาการผิดปกติที่น่าสงสัย ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที ได้แก่
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ประจำเดือนมานอกช่วงรอบเดือน
- มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน)
- ตกขาวมีเลือดหรือมีหนอง
- ช่องคลอดมีกลิ่น
ปัจจัยและกลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก


สาเหตุมะเร็งปากมดลูกที่สำคัญที่สุดของการเกิดมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
- มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เริม
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น คนที่เป็น HIV
- ผู้หญิงสูบบุหรี่

ระยะของมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ เพื่อบ่งบอกขอบเขตของการแพร่กระจายของโรค ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษาและการพยากรณ์โรค โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลัก ดังนี้
- ระยะที่ 1 : เซลล์มะเร็งอยู่ในเฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2 : เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกปากมดลูก แต่ยังไม่ถึงผนังอุ้งเชิงกราน หรือลุกลามเข้าไปในช่องคลอดส่วนบน 2 ใน 3 ส่วน
- ระยะที่ 3 : เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังผนังอุ้งเชิงกราน หรือลุกลามเข้าไปในช่องคลอดส่วนล่าง 1 ใน 3 ส่วน หรือทำให้เกิดภาวะไตบวมน้ำ เนื่องจากการอุดตันของท่อไต
- ระยะที่ 4 : มะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย โดยเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ตรง ปอด ตับ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
เบื้องต้นจะทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pathtezt ร่วมกับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) หากผลการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติ หรือผลการตรวจ HPV พบเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกตินั้น ซึ่งวิธีการตรวจเพิ่มเติมหลัก ๆ ได้แก่
- การส่องกล้องตรวจเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) ส่องดูบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดอย่างละเอียด กล้องนี้ช่วยให้แพทย์เห็นพื้นผิวของปากมดลูกและช่องคลอดได้ชัดเจนขึ้น และสามารถระบุบริเวณที่มีความผิดปกติที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้ก่อนการส่องกล้อง แล้วใช้น้ำยาเพื่อทำให้เห็นเซลล์ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น ใช้เวลาประมาณ 1 นาที รอดูความเปลี่ยนแปลงของน้ำยากับเนื้อเยื่อที่ปากมดลูก และจะใช้อุปกรณ์ทำการตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติเพื่อส่งตรวจต่อไป
วิธีการรักษามะเร็งปากมดลูก


การรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นอยู่กัระยะของโรคที่เป็น โดยมีวิธีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้
รักษามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการผ่าตัด (Surgery)
การผ่าตัดมักใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะแรก มีทั้งการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (LEEP) การตัดปากมดลูก (trachelectomy) รวมไปถึงการตัดมดลูก (Hysterectomy) การตัดในส่วนของมดลูกรวมทั้งเนื้อเยื่อข้างๆ มดลูก (Radical hysterectomy) ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและอายุของผู้ป่วย
รักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายรังสี (Radiation Therapy) และ เคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นการรักษาที่ใช้การฉายแสง หรือ รังสีรักษา เป็นหลัก และรักษาร่วมกับการให้เคมีบำบัด (คีโม ) ด้วย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
รักษามะเร็งปากมดลูกด้วยเคมีบำบัด ร่วมกับ ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) หรือภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
การให้เคมีบำบัด ร่วมกับ ยามุ่งเป้า เป็นยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งโดยเฉพาะ โดยจะออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง หรือ การรักษาด้วย ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้
รักษามะเร็งปากมดลูกแบบประคับประคอง
การรักษามะเร็งปากมดลูกแบบประคับประคอง (Palliative care) ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคให้หายขาด แต่เป็นการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ ปรับปรุงคุณภาพชีวิต และให้การสนับสนุนทางร่างกาย จิตใจ
วิธีการป้องกันมะเร็งปากมดลูก


การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้หลายวิธีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และการตรวจพบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนี้
- การฉีดวัคซีน HPV เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงทีและป้องกันการลุกลามเป็นมะเร็ง ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 25 ปี เป็นอย่างน้อย โดยมี 2 วิธี ได้แก่
- ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pathtezt เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติ
- การตรวจหาเชื้อ HPV (HPV DNA Test) เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ระดับ DNA ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจระดับชีวโมเลกุลที่สามารถค้นหาเชื้อเอชพีวีได้ ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้ก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก
- การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็ว มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เป็นต้น
- การดูแลสุขภาพให้ดี เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนให้เพียงพอจึงมีความสำคัญ เพราะการมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงสามารถช่วยให้ร่างกายกำจัดเชื้อ HPV ได้ดีขึ้น
- การเลิกสูบบุหรี่
มะเร็งปากมดลูก รักษาได้ หากตรวจได้เร็ว
ภัยเงียบของมะเร็งปากมดลูก คือ การที่มีความผิดปกติและตัวโรคมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ผู้หญิงเราไม่สามารถรับรู้ได้โดยง่าย และหากมีอาการผิดปกติต้องสงสัย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลสุขภาพผู้หญิงทุกช่วงวัยอย่างครอบคลุม ด้วยการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยเพื่อการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการวินิจฉัย เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา ด้วยความเข้าใจและห่วงใยในสุขภาพของผู้หญิงทุกคน
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี