ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเข้าเฝือก (Splint)
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
เฝือก (Splint) คือ เครื่องดามสำหรับใช้ดามกระดูกและข้อ เพื่อให้ส่วนที่ถูกหุ้มด้วยเฝือกนั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ แต่ร่างกายส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกเฝือกสามารถเคลื่อนไหวได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปกป้องเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด บวม และส่งเสริมให้กระดูกหักนั้นติดกันดีดังเดิม โดยวัสดุที่ใช้ทำเฝือกนั้น ได้แก่ ปูนปลาสเตอร์ และพลาสติก
สารบัญ
การดูแลเฝือก
เฝือกใช้เวลาแข็งตัว 3-5 นาที หลังจากที่แพทย์ใส่เฝือกให้ แต่เฝือกที่แข็งตัวแล้วยังมีสภาพเปียกชื้นและบุบง่าย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วันจึงจะแห้งสนิท เฝือกที่แห้งสนิทแล้วจะมีความแข็งแรง และน้ำหนักจะเบาลงกว่าขณะที่เปียกชื้นมาก ถ้าดูแลทะนุถนอมจะสามารถใช้ได้นานจนถึงเวลาที่จะเปลี่ยนหรือถอด ในช่วง 3 วันแรกหลังใส่เฝือก ควรดูแลดังนี้
- ป้องกันเฝือกแตก หัก หรือบุบ ในช่วงเฝือกเปียกชื้น หรือยังไม่แห้งสนิท โดยควรวางเฝือกบนวัสดุนุ่ม เช่น หมอนหรือฟองน้ำ หลีกเลี่ยงการวางเฝือกบนวัสดุแข็ง เช่น วางส่วนของส้นเท้าบนพื้นปูน หรือใช้ส่วนของข้อศอกเท้าพนักเก้าอี้ ควรประคองเฝือกในระหว่างที่เคลื่อนย้าย หรือลุกออกจากเตียงอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้ปลายนิ้วกดหรือบีบเล่น
- ดูแลให้เฝือกแห้งเร็ว ควรวางเฝือกในที่โล่ง อากาศถ่ายเท สะดวก ไม่อับชื้น ไม่ควรนำผ้าห่มหรือสิ่งใดๆ คลุมบนเฝือก สามารถใช้พัดลมเป่าให้เฝือกแห้งเร็วขึ้นได้ ห้ามนำเฝือกไปผิงไฟ หรือใกล้ความร้อน
การปฏิบัติเมื่อเฝือกแห้งดีแล้ว
- ไม่ควรให้เฝือกเปียกชื้นหรือสกปรก
- ควรมีส้นยางสำหรับเป็นตัวรับน้ำหนัก ไม่ควรให้เฝือกเป็นตัวรับน้ำหนักทั้งหมด
- ไม่ควรลงน้ำหนัก หรือเดินบนเฝือก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจขึ้น
- เฝือกหลวม เนื่องจากอวัยวะภายในเฝือกยุบบวมลง หรือเข้าเฝือกไม่กระชับตั้งแต่แรก
- เฝือกคับหรือแน่นเกินไป เกิดจากการบวมของอวัยวะ หากปล่อยให้อวัยวะอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป
- การเข้าเฝือกนานเกินไป ทำให้ข้อยึดติด
- การถอดเฝือกออกเร็วเกินไป โดยที่กระดูกยังไม่ติดกันดี ทำให้เกิดการเคลื่อนหลุดของปลายกระดูกที่หัก ติดกันผิดรูป ติดช้า หรือไม่ติดกัน
คำแนะนำในช่วงใส่เฝือก
- ควรเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้เฝือกบ่อยๆ และเคลื่อนไหวส่วนที่อยู่ภายนอกเฝือก หรือข้อต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น หากใส่เฝือกขา ควรเคลื่อนไหวนิ้วเท้า และเกร็งกล้ามเนื้อน่องบ่อยๆ
- ห้ามตัดทำลายเฝือก หรือนำสำลี หรือวัสดุรองรับเฝือกออกเอง
- ไม่ควรให้เฝือกกระทบกับวัสดุแข็งบ่อยๆ เพราะอาจได้รับแรงกดจนเฝือกแตก หรือยุบได้ เช่น การเหยียบ หรือวางเฝือกลงพื้นแข็งโดยตรง
- ห้ามให้พื้นเฝือกเปียก หรือโดนน้ำ หรือถูกความร้อน
- ห้ามใช้ของแข็ง ของมีคม หรือวัสดุที่หักหลุดง่าย สอดเข้าไปในเฝือก เพราะอาจทำให้ผิวหนังถลอก และเกิดบาดแผลได้
- ควรยกส่วนแขน หรือขาที่เข้าเฝือกให้สูงอยู่เหนือระดับหัวใจเสมอ เพื่อช่วยให้เลือดเกิดการไหลเวียนที่ดี เวลานั่งหรือนอน ควรใช้หมอนหนุนแขนหรือขาที่เข้าเฝือกไว้ และเวลาเดิน ยืน ควรใช้ผ้าคล้องคอสำหรับผู้ที่ใส่เฝือกแขวน
- ควรพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
ควรรีบมาพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการผิดปกติ หรืออาการปวดมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าข้างที่เข้าเฝือกมีสีเขียวคล้ำ หรือซีดขาว บวมมากขึ้น หรือมีอาการชา
- ไม่สามารถขยับนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าข้างที่ใส่เฝือกได้
- เมื่อมีวัตถุแปลกปลอมหลุดเข้าไปในเฝือก
- เฝือกหลวม เฝือกบุบ หรือแตกหัก
- มีเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำหนองไหลซึมออกมาจากเฝือก หรือส่งกลิ่นเหม็น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ