คงไม่ดีแน่ถ้าพี่น้องอิจฉากัน ป้องกันก่อนเป็นปัญหาลุกลาม
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
หลายครอบครัวมีพี่น้องอยู่ร่วมกันหลายคน จึงเกิดปัญหาพี่น้องอิจฉากัน บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่เองก็มีส่วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกๆ รู้สึกอย่างนั้น เช่น ให้ท้ายหรือตามใจน้องคนเล็กมากเกินไป เพียงเพราะเห็นว่ายังเด็กอยู่ คงไม่รู้เรื่องอะไร หรือให้ความสนใจกับพี่คนโตน้อยลง เพราะเห็นว่าโตแล้วคงดูแลตัวเองได้ คงไม่ดีแน่ถ้าพ่อแม่ยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จนความรู้สึกอิจฉาระหว่างพี่น้องหยั่งรากลึกเกินจะแก้ไข ดังนั้นพ่อแม่ควรมีวิธีป้องกันปัญหาพี่น้องอิจฉากันเสียตั้งเนิ่น พร้อมทั้งนำหลักการเลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้ ที่เป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อให้ลูกรักเติบโตมาอย่างเป็นเด็กดีและมีความสุข ปราศจากปัญหาด้านจิตในหรือปัญหาพฤติกรรมต่างๆ
สารบัญ
คำแนะนำการป้องกันปัญหาพี่น้องอิจฉากัน
- พ่อแม่ควรบอกพี่ทันทีเมื่อแน่ใจว่าตนจะมีลูกคนใหม่ โดยให้พี่มีส่วนร่วมรับรู้และเตรียมตัวต้อนรับน้องใหม่ เช่น ให้วางมือบนท้องแม่เมื่อน้องดิ้น ให้ช่วยเลือกเสื้อผ้า ของเล่น ขวดนมให้น้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรฝึกให้พี่เติบโตได้โดยพึ่งตนเองมากขึ้น และพึ่งผู้ใหญ่น้อยลง
- เมื่อน้องกลับมาจากโรงพยาบาล อยู่ร่วมบ้านเดียวกันแล้ว ควรทำให้พี่รู้สึกว่าพ่อแม่ยังรักเขาอยู่ และให้โอกาสพี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบผ้าอ้อม ขวดนม ช่วยคุยเล่นกับน้อง เป็นต้น นอกจากนี้พ่อแม่ควรมีเวลาเฉพาะส่วนตัว เช่น กอด พูดคุยกับพี่ ตอนน้องหลับอยู่ เป็นต้น
- หากลูกอายุมากกว่า 4 ปี มักจะต้องการเล่นเป็นส่วนตัวแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ควรหาสถานที่ให้พี่เล่นตามลำพัง โดยแม่กับน้องออกไปทางอื่น หรือถ้าพี่อยากได้ของในมือน้อง ให้พี่ไปหาของเล่นอื่นมาแทน และทำท่าสนุกกับของชิ้นนั้น น้องจะหันมาสนใจและปล่อยของชิ้นเดิมทันที
ทั้งนี้หากมีการตีกันเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ต้องหยุดสถานการณ์นั้นทันที ปลอบเด็กที่ถูกทำร้าย และพูดหนักแน่นกับเด็กที่กระทำว่า “ตีไม่ได้ เพราะทำให้เขาเจ็บ แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่หนูจะทำใครเจ็บไม่ได้” และแยกเด็กที่ถูกทำร้ายอกไป เมื่ออารมณ์สงบลงจึงจะมาพูดกัน และถือโอกาสสอนวิธีที่ควรปฏิบัติ
การเลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้
ปัจจุบันพ่อแม่จำนวนมากยังเลี้ยงลูกแบบไม่ตื่นรู้ คือเลี้ยงตามสัญชาติญาณหรือความเคยชินเดิมๆ ที่เคยทำมา การเลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้เป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อให้ลูกรักเติบโตมาอย่างเป็นเด็กดีและมีความสุข ปราศจากปัญหาด้านจิตในหรือปัญหาพฤติกรรมต่างๆ โดยองค์ประกอบสำคัญของการตื่นรู้ มีดังนี้
1. ความสัมพันธ์สำคัญกว่าการกระทำ
พ่อแม่หลายท่านให้ความสำคัญกับการกระทำจนเสียความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกไป เช่น การที่ลูกกลับจากโรงเรียนแล้วไม่เก็บรองเท้าเข้าประจำที่ ผู้ปกครองจะมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร จึงได้ดุ ตำหนิ ตักเตือน หรือลงโทษลูกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งทำให้เสียความสัมพันธ์ ในทางตรงข้าม หากพ่อแม่มองเห็นว่าความสัมพันธ์สำคัญมากกว่าอาจปล่อยวางเรื่องการเก็บรองเท้าไปก่อน รอตอนลูกพร้อมหรืออารมณ์ดีค่อยบอก ลูกจะเต็มใจทำตามที่พ่อแม่ต้องการแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่เสียความสัมพันธ์
2. ความสัมพันธ์ไม่ใช่การตามใจ
การรักษาความสัมพันธ์ไม่ได้หมายความว่าให้พ่อแม่ปล่อยเด็กไม่ต้องเก็บรองเท้า หรือพ่อแม่ลงมือเก็บรองเท้าให้เอง แต่เป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่รอเวลาให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ แล้วจึงค่อยเตือนหรือสอนให้ทำให้สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ
3. ต้องมีชีวิตอยู่กับเนื้อแท้
ในยุคปัจจุบันคนในครอบครัวไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยหรือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากนัก ความสัมพันธ์จึงเป็นแบบผิวเผิน ไม่แน่นแฟ้นหรือเรียกได้ว่าไม่อยู่กับเนื้อแท้ ดังนั้นการมีเวลาคุณภาพให้ลูกและครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ควรละเลย
การเลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้ นอกจากจะทำให้ลูกมีความสุข สุขภาพจิตดี มีความมั่นใจในตัวเอง สามารถเผชิญปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้แล้ว ยังเป็นทางเลือกที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยใจเป็นสุขอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก