คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร
ในระหว่างตั้งครรภ์ สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรคำนึงถึง และเป็นเรื่องที่สำคัญนอกเหนือจากโภชนาการที่ครบถ้วนแล้ว คือ เรื่องของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาการทารกในครรภ์และสุขภาพของตัวเอง หากน้ำหนักตัวของคุณแม่มากเกินความจำเป็น หรือน้อยจนเกินไปอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ แล้วแบบนี้ น้ำหนักคุณแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละเดือน ควรจะเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัมถึงจะดีต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร
การเพิ่มน้ำหนักสามารถช่วยให้ทารกมีสุขภาพสมบูรณ์ และคุณแม่มีน้ำนมพร้อมเพื่อดูแลลูก หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ เป็นไปได้ที่ทารกที่คลอดออกมาจะตัวเล็กเกินไป มีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ อาจมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น และอาจประสบกับพัฒนาการล่าช้า
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน
โรคนี้มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ พฤติกรรมการรับประทานแล้วนอนทันที ความอ้วน น้ำหนักเกินที่ทำให้มีความดันท้องเพิ่มมากขึ้น การรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว รสจัด รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ ก็จะทำให้อาการกำเริบได้
และหากคุณแม่มีน้ำหนักสูงเกินไป ก็เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ทารกจะตัวใหญ่เกินไป ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด การผ่าตัดคลอด และโรคอ้วนในช่วงวัยเด็ก
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักตามดัชนีมวลกาย
ในระหว่างการตั้งครรภ์จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อพัฒนาการทารกในครรภ์และสุขภาพของตัวเอง โดยน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นสำหรับคุณแม่แต่ละท่าน จะไม่เหมือนกันเนื่องจากน้ำหนักและส่วนสูงแตกต่างกันไปแต่ละคน ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าน้ำหนักที่พอดีควรเป็นเท่าไร คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถประเมินได้ด้วยตัวเอง โดยใช้การคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) คือ เอาน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง แล้วนำค่าดัชนีมวลกายที่ได้ มาเปรียบเทียบกับตาราง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (BMI) คำนวณโดยน้ำหนัก(ก.ก.)/ความสูง(เมตร2) | น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น (กิโลกรัม) |
---|---|
BMI < 18.5 (น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์) | 12.5 – 18.0 |
BMI 18.5 – 24.9 (น้ำหนักตัวปกติ) | 11.5 – 16.0 |
BMI 25.0 – 29.9 (น้ำหนักตัวเกิน) | 7.0 – 11.5 |
BMI ≥ 30 (โรคอ้วน) | 5.0 – 9.0 |
การตั้งครรภ์แฝด | 15.9 – 20.4 |
น้ำหนักคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละไตรมาสควรเพิ่มเท่าไหร่
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 12.5 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของแม่ก่อนการตั้งครรภ์ด้วย สำหรับอัตราส่วนของน้ำหนักที่เหมาะสมกับอายุครรภ์ในแต่ละไตรมาส และน้ำหนักตัวควรเพิ่มอยู่ที่ประมาณ
ค่า BMI ก่อนตั้งครรภ์ | น้ำหนักที่เพิ่มในไตรมาสแรก (ก.ก.) | น้ำหนักที่เพิ่มในแต่ละสัปดาห์ ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 (ก.ก.) | น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นทั้งหมด 12.5-18.0 (ก.ก.) |
---|---|---|---|
< 18.5 | 2.3 | 0.5 | 12.5-18.0 |
18.5-24.9 | 1.6 | 0.4 | 11.5 |
25.0-29.9 | 0.9 | 0.3 | 7.0-11.5 |
≥ 30 | 0 | 0.2 | 5.0-9.0 |
ทั้งนี้น้ำหนักคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้มีแต่น้ำหนักตัวของทารกในครรภ์อย่างเดียว แต่ยังเพิ่มมาจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายคุณแม่ด้วย โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นกระจายออกเป็นสัดส่วนคร่าวๆ ดังนี้
- ทารกในครรภ์ประมาณ 3,200 กรัม
- รก 670 กรัม
- มดลูก 1,120 กรัม
- น้ำคร่ำ 896 กรัม
- เลือดและสารน้ำ 1,344 กรัม
- เต้านม 448 กรัม
- น้ำนอกเซลล์ 3,200 กรัม
- ไขมัน 3,500 กรัม
ข้อแนะนำ
- กลุ่มที่มี BMI <18.5 ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ประเภทเนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ และข้าว ควรเพิ่มปริมาณ มากกว่าก่อนตั้งครรภ์
- กลุ่มที่มี BMI ≥ 25.0 ควรควบคุมน้ำหนักโดยจำกัดอาหาร ประเภทแป้ง ข้าว เผือก มัน พืชหัว น้ำตาลหรือก๋วยเตี๋ยวเน้นรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง และผักต่างๆ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และส่งผลต่อการคลอดได้
โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานแบบตามใจปาก หรือรับประทานเป็น 2 เท่าเผื่อทารกในครรภ์ แต่ควรเลือกอาหาร พวกโปรตีน และรับประทานอาหารจำพวกแป้งและไขมันอย่างพอดี รวมทั้งต้องได้รับสารอาหารครบหมู่ และพลังงานเพียงพอเพื่อให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักที่พอดี มีการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมองอย่างสมบูรณ์ โดยช่วง 1-3 เดือนแรก ควรได้รับพลังงาน 2,050 กิโลแคลอรีต่อวัน ช่วงเดือนที่ 4-6 เพิ่มเป็น 350 และช่วงเดือนที่ 7-9 เพิ่มเป็น 470 กิโลแคลอรีต่อวัน เมื่อคุณแม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงแล้ว ทารกในครรภ์ก็จะได้สารอาหารที่ครบถ้วนมีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดี
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี