จะทราบได้อย่างไรว่าลูกหูตึง หูหนวก บกพร่องทางการได้ยิน
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี
หูเสียเป็นอาการอย่างหนึ่งของผู้ที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติซึ่งจะพบว่ามีอาการหูอื้อ หูตึง (ได้ยินเสียงไม่ชัดเจนหรือฟังไม่รู้เรื่อง) หรือหูหนวก (ฟังไม่ได้ยินเสียง) ซึ่งการได้ยิน ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของการพูด ดังนั้น หากมีการได้ยินที่ผิดปกติหรือบกพร่องทางการได้ยินก็จะทำให้มีปัญหาในการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นในเด็กเล็ก จะทำให้เด็กมีปัญหาพูดช้าและมีผลเสียต่อความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ พฤติกรรมและการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมอีกด้วย
หูตึงพบได้บ่อยแค่ไหน?
หูตึงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและทั่วโลกพบได้พอๆ กันทารกแรกเกิด 1,000 คน จะมีทารกแรกเกิดที่หูเสียประมาณ 1-3 คน และพบได้มากขึ้นเป็น 10-20 เท่าในทารกแรกเกิดที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการได้ยินบกพร่องร่วมด้วย
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูตึง?
สาเหตุของอาการหูตึง ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติของหู ใบหน้าและศีรษะแต่กำเนิด การติดเชื้อหัดเยอรมัน ซิฟิลิส ไข้สุกใสระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะขาดอากาศระหว่างคลอดและการติดเชื้อหลังคลอด ได้รับยาหรือสารบางอย่างที่มีพิษต่อหู ยาเสพติดและสารระเหย สุรา อุบัติเหตุที่ศีรษะ การติดเชื้อหัดคางทูม หูชั้นกลางหรือหูชั้นในอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
จะสังเกตได้อย่างไร?
เนื่องจากความพิการทางการได้ยินโดยส่วนใหญ่เป็นความพิการชนิดซ่อนเร้น โดยทั่วไปจึงไม่พบความผิดปกติของร่างกายยกเว้นในบางรายที่มีความผิดปกติของหู ใบหน้าและศีรษะตั้งแต่เกิดร่วมด้วย จึงต้องอาศัยการประเมินปัจจัยเสี่ยง อาการหูเสียและสังเกตการตอบสนองต่อเสียง เช่น เรียกไม่หัน ร้องไห้โวยวายเสียงดัง ดื้อมากกว่าปกติหรือมีปัญหาพูดช้าหรือพูดไม่ชัด เป็นต้น
การตรวจการได้ยินทำอย่างไร?
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจหู จากนั้นจะทดสอบการได้ยินโดยใช้เครื่องตรวจการได้ยินในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถทำการตรวจคัดกรองการได้ยินได้ตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็วและปลอดภัยไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หากพบว่ามีความผิดปกติจึงจะทำการวินิจฉัยและตรวจต่อไปเพื่อหาระดับการได้ยินด้วยเครื่องตรวจคลื่นสมองที่เกี่ยวกับการได้ยิน ทำให้ทราบได้ว่าทารกมีความผิดปกติของการได้ยินอยู่ในระดับใด หูตึงเล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง หรือหูหนวก
มีทางรักษาให้หายได้หรือไม่?
การรักษาอาการหูหนวก หูตึงให้หายขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเกิดจากโรคของหูชั้นนอกและหูชั้นกลางสามารถรักษาได้ด้วยยาหรือการผ่าตัด แต่หากเกิดจากโรคของหูชั้นในหรือประสาทหูแล้ว การรักษามี 2 ทางเลือก คือ
- การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
- การฟื้นฟูสมรรถภาพ การได้ยินด้วยเครื่องช่วยฟังซึ่งจะทำหน้าที่ในการขยายเสียงที่เข้าสู่หูให้มีความดังมากพอที่จะได้ยิน
เครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ขยายเสียงที่มีประสิทธิภาพสูง และมีกลไกที่สามารถปรับแต่งคุณภาพเสียง ให้เหมาะกับการได้ยินของแต่ละบุคคลได้ การใช้เครื่องช่วยฟังจะไม่ทำให้ประสาทหูเสื่อมเพิ่มขึ้น เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังผู้ปกครองควรจะต้องเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาเครื่อง เพื่อกระตุ้นให้เด็กใส่เครื่องช่วยฟังตลอดเวลาที่ตื่น ทำให้เด็กคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่มีเสียง นอกจากนี้จำเป็นจะต้องพาเด็กมารับการฝึกจำแนกเสียงและฝึกพูดเป็นระยะๆ ตามลำดับ
อนาคตของเด็กหูตึงจะเป็นอย่างไร?
จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กหูเสียที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาก่อนอายุครบ 6 เดือน จะมีความสามารถในการพูดและการใช้ภาษาใกล้เคียงกับเด็กปกติ การที่เด็กหูตึงจะพูดได้หรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือ และการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองเป็นหลัก นักแก้ไขการพูดที่ประจำโรงพยาบาลจะให้คำปรึกษา และแนะนำวิธีการฝึกที่ถูกต้องให้แก่ผู้ปกครองเพื่อนำไปปฏิบัติที่บ้าน เมื่อเด็กสามารถพูดได้ ก็จะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ และสามารถเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่หากเด็กไม่ได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพหลัง 7 ปีไปแล้ว สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินจะเสียความสามารถในการทำงานไป แม้ว่าใส่เครื่องช่วยฟังในภายหลังก็ไม่สามารถจำแนกเสียงได้ ทำให้เด็กพูดไม่ได้ถึงขั้นหูหนวก และจำเป็นต้องเข้าโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางการได้ยินเพื่อฝึกภาษามือ ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กเสียโอกาสที่จะได้รับการศึกษาในระดับสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีผลต่อความสามารถในการประกอบอาชีพต่อไป
เมื่อไรจึงควรจะพาลูกไปตรวจ
ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหู คอ จมูก ทันทีที่สงสัยว่าเด็กมีการได้ยินบกพร่อง หรือพัฒนาการทางการพูดล่าช้า หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการหูหนวก ดังต่อไปนี้
- ประวัติครอบครัวหรือมีญาติที่มีเด็กหูหนวกหรือเป็นใบ้ แต่กำเนิด
- มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า โดยเฉพาะการผิดรูปของใบหูและช่องหู
- มีประวัติการติดเชื้อหัดเยอรมัน ซิฟิลิส ไข้สุกใส ตั้งแต่ในครรภ์
- มารดาสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ติดยาเสพติดหรือสารระเหยในระหว่างตั้งครรภ์
- มีการเจ็บป่วย หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลวิกฤตทารกแรกคลอดนานเกิน 48 ชั่วโมง
- มีประวัติเจ็บป่วยที่สำคัญในช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 28 วัน เช่น ตัวเหลืองจนได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือมีปัญหาการหายใจ จนต้องได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
- มีประวัติได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- มีประวัติการติดเชื้อที่ทำให้หูหนวกได้ เช่น หัดคางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
- มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันบ่อยๆ หรือมีน้ำในหูชั้นกลางติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
- อายุน้อยกว่า 6 เดือน แต่ไม่สะดุ้งตกใจเวลามีเสียงดัง ไม่หันศีรษะหาเสียง ไม่หยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงปลอบไม่เล่นน้ำลาย หรือไม่ส่งเสียงฮืออา
- อายุระหว่าง 6 เดือน 1 ปีไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อไม่หันไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ
- อายุระหว่าง 1-2 ปี แต่ยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้ หรือพูดได้น้อยกว่า 20 คำ ไม่ตอบสนองต่อเสียง แต่ปัจจุบันนี้ สามารถตรวจวัดกรองการได้ยินได้ตั้งแต่เด็กเกิดได้เพียง 1 วันเท่านั้น
หากพ่อแม่ ผู้ปกครองสงสัยว่าลูกมีปัญหาการได้ยิน อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะการนิ่งเฉยและเวลาที่ผ่านไปนานขึ้น จะยิ่งทำให้ปัญหาการได้ยินของลูกลุกลาม ควรพาลูกเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยินทันที เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัย และรักษาช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก