ทำความเข้าใจ เข้าอุโมงค์ MRI ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
ศูนย์ : ศูนย์รังสีวินิจฉัย
บทความโดย : พญ. ชมสิริ เสกสรรค์วิริยะ
เมื่อแพทย์เสนอการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่อง MRI หลากหลายคำถามคงผุดขึ้นมามากมาย ว่าการตรวจด้วยเครื่อง MRI มันจะมีอันตรายไหม? ต้องเตรียมตัวอย่างไร? ใช้เวลาการตรวจนานแค่ไหน? ต้องเข้าอุโมงค์ที่แคบๆ น่ากลัวหรือเปล่า? เพื่อไขข้อสงสัยกับคำถามมากมายเหล่านี้ เรารวบรวมข้อมูลมาให้ทุกท่านแล้วค่ะ แล้วคุณจะรู้ว่าการตรวจ MRI ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดไว้อย่างแน่นอน
ทำความเข้าใจการตรวจด้วยเครื่อง MRI
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) หรือ เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากันก่อน เครื่องนี้จะมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ เป็นเครื่องตรวจร่างกายที่ทำงานโดยการสร้างภาพเหมือนจริง โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยส่งคลื่นความถี่วิทยุเข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ แล้วนำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ภาพอวัยวะในร่างกายที่มีความคมชัด สามารถแยกเนื้อเยื่อของร่างกายที่ปกติและผิดปกติออกจากกันได้ สามารถตรวจได้ทั้งร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง ไขสันหลัง หัวใจ กระดูก-กล้ามเนื้อ-ข้อ ช่องท้องและระบบทางเดินอาหารได้ เป็นต้น
ก่อนตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไร
การตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ถูกตรวจจะไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ และไม่มีอันตรายจากรังสีตกค้าง ในด้านการเตรียมตัวนั้นก็ไม่ยุ่งยากซึ่งการเตรียมตัวก่อนตรวจด้วยเครื่อง MRI มีดังนี้
- ผู้รับการตรวจไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือยาใดๆ ยกเว้นในบางรายที่อาจต้องอดอาหารและน้ำก่อนการสแกนล่วงหน้าประมาณ 4-6 ชั่วโมง เช่น การต้องทานยานอนหลับ ยาสลบ หรือ กรณีตรวจอวัยวะในช่องท้องหรือตรวจระบบทางเดินน้ำดี
- ก่อนเข้าตรวจให้เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะเครื่องหล่อด้วยความเย็นตลอดเวลา ในห้องตรวจจะเย็นมาก
- ในการตรวจจำเป็นต้องนอนนิ่งเป็นเวลานานพอสมควร ผู้รับการตรวจเพียงแต่ทำใจให้สงบ นอนให้สบาย ไม่ต้องกลัว
- ควรงดการแต่งหน้าในวันมาตรวจ อาทิ การทาอายแชโดว์ และมาสคาร่า เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพและความร้อนบนใบหน้าได้
- ผู้รับการตรวจต้องถอดเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์โลหะที่ถอดออกได้ไว้ภายนอก อาทิ สร้อยคอ แหวน ต่างหู นาฬิกา เป็นต้น
- ระหว่างการตรวจจะต้องไม่ขยับ หรือเคลื่อนไหวส่วนที่ตรวจ เพื่อให้ได้ภาพชัดเจน
การตรวจด้วยเครื่อง MRI ใช้เวลานานเท่าไหร่
โดยการตรวจด้วยเครื่อง MRI นั้น ผู้รับการตรวจจะต้องนอนนิ่งๆ ในอุโมงค์ โดยระยะเวลาในการตรวจขึ้นอยู่กับอวัยวะที่จะตรวจ เฉลี่ยประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังขึ้นกับ รอยโรคที่สงสัย และความร่วมมือของผู้ที่รับการตรวจด้วย เช่น การตรวจเพื่อดูความผิดปกติของเนื้อสมองโดยรวม จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาที แต่ถ้าต้องการตรวจดูหลอดเลือดด้วย เวลาที่ใช้ในการตรวจ ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก กรณีที่ตรวจเพื่อดูความผิดปกติของส่วนช่องท้อง จะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที เป็นต้น
ต้องเข้าอุโมงค์ กลัวที่แคบสามารถตรวจได้ไหม
ด้วยการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยจะต้องเข้าไปในเครื่องที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ โดยก่อนตรวจจะทำการสอบถามซักประวัติและประเมินความกลัวที่แคบก่อนว่ามากน้อยเพียงใด ถ้าท่านทราบมาก่อนว่ากลัวที่แคบ ควรแจ้งให้ทราบในวันที่นัดตรวจ เพื่อจะได้ประเมินการเตรียมตัวให้ โดยก่อนตรวจเจ้าหน้าที่จะอธิบายลักษณะการตรวจ พร้อมให้ดูเครื่องและฟังเสียงการทำงานของเครื่อง ทั้งนี้ขณะทำการตรวจยังสามารถติดต่อกับผู้ทำการตรวจภายนอกได้ตลอดเวลา และให้ญาติอยู่ภายในห้องตรวจได้ด้วย หากกรณีที่ผู้รับการตรวจมีความกลัวมากจนไม่สามารถจะตรวจได้ แพทย์จะให้ทานยาคลายเครียด หรืออาจจะต้องได้รับยานอนหลับ หรือยาสลบก่อนตรวจ
ถ้ามีปัญหาระหว่างตรวจต้องทำอย่างไร
ขณะตรวจอยู่ หากผู้รับการตรวจรู้สึกผิดปกติหรือมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ไอ จาม หรือสำลัก สามารถบีบลูกยางฉุกเฉินที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เพื่อหยุดตรวจชั่วคราวได้ ในขณะที่ท่านทำการตรวจอยู่ในเครื่องจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลท่านตลอดเวลา ถ้ามีปัญหาขัดข้องอะไร ท่านสามารถบอกได้โดยผ่านไมโครโฟนที่อยู่ภายในเครื่อง นอกจากนี้ระหว่างการตรวจเครื่องจะมีเสียงดังเป็นระยะๆ ไม่ต้องกลัว เพราะจะมีฟองน้ำหรือหูฟังอุดหูเพื่อลดเสียงให้
ใส่เหล็กดัดฟัน หรือมีโลหะในร่างกายสามารถตรวจได้ไหม
การตรวจด้วยเครื่อง MRI มีข้อพึงระวังหรือสิ่งต้องห้ามในการเข้าตรวจอยู่ สำหรับผู้ที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย อาทิ ผู้ผ่าตัดที่มีคลิปหนีบหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง ผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม ผู้ที่ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ผู้ที่ผ่าใส่ประสาทหูเทียม อาจเข้าตรวจไม่ได้ โดยก่อนตรวจท่านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบในวันที่นัดตรวจก่อน เพื่อแยกประเภทของโลหะ ว่าเป็นชนิดที่เข้าสนามแม่เหล็กได้หรือไม่ รวมทั้งตำตำแหน่งที่ตรวจว่ามีการรบกวนของโลหะในการถ่ายภาพหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
บทความทางการแพทย์ศูนย์รังสีวินิจฉัย