รู้ก่อนตรวจ ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan

ศูนย์ : ศูนย์รังสีวินิจฉัย

บทความโดย : พญ. ชมสิริ เสกสรรค์วิริยะ

รู้ก่อนตรวจ ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan

เนื่องในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมากขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และเทคโนโลยีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การตรวจ CT (Computerized Tomography) ​และ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยในการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญมาก ถึงแม้ว่า 2 เครื่องนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ กัน คือ การตรวจหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ แต่กลับมีความแตกต่างที่สำคัญหลายอย่าง ซึ่งหลายๆ คนอาจยังไม่รู้ โดยเราได้รวบรวมมาให้แล้ว


หลักการทำงาน CT scan และ MRI

CT Scan เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยการปล่อย X-Ray ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพอวัยวะภายในร่างกาย ได้ภาพแบบ 3 มิติ

MRI มีหลักการทำงานคือ การนำคนไข้เข้าในสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแล้วปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ จากนั้นจะประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ที่ได้ภาพมีรายละเอียดสูงเป็นแบบ 3 มิติเสมือนจริง


ระยะเวลาในการตรวจ

CT Scan หลอดเอกซเรย์จะปล่อย X-Ray ไปพร้อมๆ กับการหมุนรอบอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการหมุนให้ครบรอบนั้น ใช้เวลาเพียง 1-2 วินาที ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาตรวจอยู่ประมาณ 10-15 นาที ต่อในการตรวจอวัยวะนั้นๆ

MRI การตรวจ MRI เป็นขั้นตอนที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่การทำ MRI จะใช้เวลานานกว่า CT โดยการตรวจแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 30-90 นาที ทั้งนี้ยังขึ้นกับรอยโรคที่สงสัย และความร่วมมือของผู้รับการตรวจร่วมด้วย


การตรวจวินิจฉัย

CT Scan ตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น รอยแตกร้าวของกระดูกและการทำลายกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจแบบอื่นๆ รวมทั้งยังเหมาะกับการตรวจวินิจฉัยอาการป่วยต่างๆ อาทิ การบาดเจ็บเสียหายของอวัยวะภายใน ภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน เนื้องอก การเกิดลิ่มเลือด ตรวจภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน และปอด เป็นต้น ทั้งนี้ยังสามารถตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอก และตรวจติดตามผลหลังการรักษามะเร็งได้อีกด้วย

MRI ให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แยกชนิดของความผิดปกติ และบอกรายละเอียดของความผิดปกติได้ดีกว่า CT เหมาะกับตรวจวินิจฉัยอาการป่วยต่างๆ อาทิ ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง สมองขาดเลือด ฯลฯ ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ตรวจเช็คหมอนรองกระดูกและเส้นประสาทไขสันหลังในบางสภาวะ เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกทับเส้นประสาท ความผิดปกติของไขสันหลัง เป็นต้น


ข้อจำกัดในการตรวจ

CT Scan ในการตรวจจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี (Contrast Material) เพื่อเพิ่มความชัดเจนของภาพ เช่น ในกรณีที่ต้องดูเนื้องอกหรือเส้นเลือด ซึ่งอาจมีผู้รับการตรวจบางรายแพ้สารทึบรังสี หรือมีโอกาสทำให้เกิดพิษกับไตได้ โดยเฉพาะ ในผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม ผู้สูงอายุ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

MRI การตรวจ MRI ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกายบางชนิด เนื่องจากผู้รับการตรวจจะต้องเข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ ดังนั้น หากมีโลหะทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็กนั้นด้วย ก็อาจจะเกิดการเคลื่อนที่ และเป็นอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ


ตารางสรุปเทียบความแตกต่าง

ความแตกต่าง CT Scan MRI
หลักการทำงาน เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ปล่อย X-Ray ในการตรวจ ได้ภาพแบบ 3 มิติ เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับคลื่นความถี่วิทยุ ในการตรวจ ได้ภาพ 3 มิติเสมือนจริง
ระยะเวลา 10-15 นาที 30-90 นาทีขึ้นไป
การตรวจวินิจฉัย วินิจฉัยโรคเกี่ยวกับกระดูก ปอด การบาดเจ็บของอวัยวะภายใน เนื้องอก ตรวจเนื้อเยื่ออ่อน กล้ามเนื้อ หลอดเลือด สมอง เส้นประสาทไขสันหลัง
ขั้นตอนการตรวจ จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี เพื่อเพิ่มความชัดเจนของภาพ เช่น ในกรณีที่ต้องดูเนื้องอกหรือเส้นเลือด ไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสีในการตรวจ ใช้ในบางกรณีเท่านั้น
ข้อจำกัด สามารถตรวจผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกายได้ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกายบางชนิด

อย่างไรก็ตามการตรวจทั้ง 2 แบบนั้นจะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ตรวจค้นหาความผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลในการรักษาของแพทย์ การเลือกชนิดอาการตรวจ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าความผิดปกติของผู้ป่วยเหมาะสมกับการตรวจชนิดใด


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย