นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงกว่าที่คิด แต่รักษาได้
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
อาการนอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อย เกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ โดยอาการนอนกรนเป็นอาการแสดงหนึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งรบกวนสุขภาพการนอนหลับของคนใกล้ชิดและส่งผลเสียต่อสุขภาพตนเองในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เป็นสาเหตุความเสี่ยงของโรคความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ก่อนจะเกิดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ เรามาทำความรู้จักถึงสาเหตุ สัญญาณและแนวทางการรักษาอาการนอนกรน และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Snoring & Obstructive Sleep Apnea: OSA) กันดีกว่า
สารบัญ
รู้จักอาการนอนกรน
อาการนอนกรน เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย มีการหย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ ทำให้เกิดการตีบแคบลงของช่องคอ เมื่อมีการตีบแคบลงของทางเดินหายใจ เราก็จะหายใจแรงขึ้นจนเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีเสียงกรนตามมา โดยโครงสร้างบริเวณคอหอยที่มีการหย่อนตัวลง และเป็นปัญหา ได้แก่ โคนลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน ผนังในคอหอยด้านข้าง เป็นต้น
หากยังปล่อยให้มีอาการนอนกรนไปเรื่อยๆ โดยไม่ใส่ใจ จะทำให้มีอาการแย่ลงไปอีก คือ ช่องทางเดินหายใจที่ตีบแคบก็จะแคบลงมาจนปิดสนิท ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปชั่วขณะ จนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) โดยเป็นอันตรายอย่างมาก ซึ่งหากใครมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยเอาไว้อาจเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นๆ ตามมา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการกรนและมีภาวะอุดตันทางเดินหายใจ
- ความอ้วน น้ำหนักตัวที่มากขึ้น ทำให้ไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจจึงแคบลง การเคลื่อนไหวของหน้าอกลดลง
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนตัวมากขึ้น
- เพศ หากเป็นชายมีโอกาสและแนวโน้มที่จะนอนกรนสูงกว่าเพศหญิง เพราะฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดีกว่า โดยที่ผ่านมาสถิติการนอนกรน พบว่า
- อายุ 30-35 ปี ผู้ชายนอนกรน 20% ผู้หญิงนอนกรน 5%
- อายุ 45-60 ปี ผู้ชายนอนกรน 60% ผู้หญิงนอนกรน 40%
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาบางชนิด กดการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะขาดออกซิเจนและภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้กล้ามเนื้อของช่องทางเดินหายใจยุบตัวง่ายขึ้น
- การสูบบุหรี่ ทำให้ช่องทางเดินหายใจอักเสบ หนาตัวและมีเสมหะมากขึ้น
- โครงสร้างกระดูกใบหน้า เช่น กระดูกแก้มที่แบนหรือคางที่เล็กและถอยหลัง
- โรคทางช่องจมูก เช่น ภูมิแพ้อากาศ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกบวม
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นอย่างไร
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นภาวะที่ช่องทางเดินหายใจของเราเกิดการอุดกั้น เป็นพักๆ ขณะนอนหลับ จนทำให้ไม่สามารถหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดการอุดตันในช่องคอแบบชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้า-ออกขาดหายไปชั่วขณะ จนเกิดการตื่นตัวของสมองในขณะนอนหลับเป็นพักๆ และการพร่องของออกซิเจนในเลือดระหว่างนอนหลับ และในบางรายอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมด้วย เช่น แอลกอฮอล์ ยานอนหลับ และยาต้านโรคซึมเศร้าที่รับประทานก่อนนอน รวมทั้งการสูบบุหรี่ซึ่งทำให้มีการอักเสบและบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจ จึงทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่
- มีอาการกรนเป็นประจำ
- ลักษณะเสียงกรนหยุดเป็นบางช่วง แล้วตามด้วยเสียงหายใจเฮือก แสดงถึงการหยุดหายใจและเริ่มหายใจอีกครั้ง บางครั้งผู้ป่วยจะจำได้ว่าสะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะหายใจเป็นช่วงสั้นๆ หรือหายใจเฮือก
- มีความง่วงมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน ถึงแม้จะนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง มีการผล็อยหลับบ่อยครั้ง
- มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย หรือไม่สดชื่นหลังตื่นนอน
- ในบางรายอาจมีอาการกัดฟัน หรือขากระตุกผิดปกติขณะนอนหลับ
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
- นอนกระสับกระส่าย
ผลข้างเคียงของโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ผลข้างเคียงขนาดใหญ่ที่ขยายในวงกว้างจากการละเลยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการรักษา หากนอนกรนแบบมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ก็คือ การเป็นโรคแทรกซ้อนต่อเนื่องซึ่งมีสาเหตุมาจากสุขภาพการนอนที่ไม่ดี เช่น มีความเสี่ยงต่อโรคความดันสูง โรคหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว โรคซึมเศร้า ผู้ชายอาจเกิดอาการสมรรถภาพทางเพศลดลง แต่ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน เป็นต้น
วิธีการรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
1. การรักษาทั่วไป
- การควบคุมน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน เพราะเมื่อน้ำหนักขึ้นจะทำให้ช่วงคอหนาส่งผลให้ไขมันที่พอกพูนบริเวณช่วงคอ อก รวมไปถึงหน้าท้องเบียดช่องทางการหายใจจนเกิดอาการกรน ลดน้ำหนักอย่างน้อย 10% ของน้ำหนักร่างกาย จะช่วยให้โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น อาการกรนน้อยลงและนอนหลับในตอนกลางคืนได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายใน 4 ชั่วโมงก่อนนอน
- ปรับเปลี่ยนท่าการนอน ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง โดยให้หนุนหมอนข้างเอาไว้ด้านหลัง ซึ่งบางคนอาจมีอาการหยุดหายใจขณะหลับในท่านอนหงายได้
2. การรักษาโดยใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ (CPAP)
การรักษาด้วยใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกหรือเครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (CPAP - Continuous Positive Airway Pressure ) เป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิผลดีที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษาอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง มีหลักการในการรักษา คือ การเป่าความดันลมผ่านทางจมูกหรือปาก ผ่านบริเวณลำคอและโคนลิ้น โดยจะมีหน้ากากสวมทับบริเวณจมูกในขณะหลับ อากาศภายใต้แรงดันที่กำหนดจะเข้าไปในช่องคอโดยผ่านทางจมูก และแรงดันอากาศจะค่อยๆ เปิดทางเดินหายใจบริเวณช่องคอตลอดเวลาโดยไม่ให้มีการอุดตันขณะที่นอนหลับ ทำให้การนอนและการหายใจเป็นปกติ
3. การรักษาโดยการผ่าตัด
สามารถแก้ไขอาการนอนกรน และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้โดยวิธีการผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ที่มีขนาดใหญ่ (พบได้ในวัยเด็ก) หรือเยื่อบุในจมูกโต ผนังกั้นช่องจมูกคด โครงสร้างของใบหน้า คาง กราม หรือเพดานอ่อน การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและช่องคอ จะเป็นการเอาเนื้อเยื่อของบริเวณช่องคอที่มีปริมาณมากออกเพื่อทำให้ช่องหายใจกว้างขึ้น โดยทั่วไปการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะได้ผลประมาณ 40% ของผู้ป่วย
4. ทันตอุปกรณ์ (Oral appliance)
เป็นอุปกรณ์ทางทันตกรรมสวมบริเวณช่องปากขณะนอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยมีพื้นที่กว้างมากขึ้น สามารถลดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด
อย่าคิดว่าการนอนกรนประจำทุกวันเป็นเรื่องปกติ เพราะอาการนอนกรนอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของอันตรายที่คุณอาจไม่รู้ตัวได้ เช่นนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการเกิดโรคต่างๆ ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก