นิ่วในไต อันตราย สังเกตอาการรีบรักษา อย่านิ่งนอนใจ

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย :

นิ่วในไต อันตราย สังเกตอาการรีบรักษา อย่านิ่งนอนใจ

นิ่วในไต เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี ถ้ามีอาการปวดหลัง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง ปวดบิดท้องรุนแรง รับประทานยาแก้ปวดก็ไม่บรรเทา ให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา เพราะหากทิ้งไว้นานอาจเกิดการติดเชื้อจนเนื้อไตเสีย ไตเสื่อม และเกิดไตวายเรื้อรังได้


นิ่วในไตเกิดจากอะไร?

นิ่วในไต เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่างๆ เช่น แคลเซียมออกซาเลต และบางครั้งอาจเป็นแคลเซียมฟอสเฟต ยูริก เป็นต้น จนกลายเป็นก้อนที่มีชนิด และขนาดแตกต่างกัน โดยมักพบที่บริเวณกรวยไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมาจากปัสสาวะเข้มข้นและตกตะกอนจนกลายเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา ซึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำได้ และแม้จะเกิดขึ้นในไต แต่ก้อนนิ่วก็มีโอกาสหลุดลงมาในท่อไตจนถึงบริเวณกระเพาะปัสสาวะได้

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต

โรคนิ่วในไต ส่วนมากเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่วในไตสูงกว่าคนในครอบครัวปกติ
  2. ปัจจัยด้านเพศ และอายุ พบการเกิดนิ่วในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่ในช่วงอายุ 30-60 ปี
  3. พฤติกรรมดื่มน้ำน้อย จึงทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงขึ้น และเกิดเป็นตะกอนนิ่วได้
  4. การรับประทานอาหารบางอย่างเป็นประจำ และมากเกินความจำเป็น เช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูง มีโปรตีนสูง หรือมีโซเดียมสูง ทั้งนี้การรับประทานอาหารจะถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงก็ต่อเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย
  5. ภาวะของต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และการเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วน โรคเบาหวาน
  6. กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เคลื่อนไหวร่างกายน้อย เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต
  7. ยาบางชนิด การรับประทานยาบางชนิดจะมีผลต่อการขับสารก่อนิ่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้น เช่น วิตามินซี ยาเม็ดแคลเซียม ยาต้านไวรัสเอดส์-อินดินาเวียร์ (Indinavir) ยาแก้ลมชัก-โทพิราเมท เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

เช็คด่วนอาการเตือนนิ่วในไต

นิ่วในไตมักไม่มีอาการแสดง แต่จะมีอาการแสดงก็ต่อเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน หรือก้อนนิ่วไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการ ดังนี้

  1. ปวดหลังหรือช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะปวดเสียด ปวดบิดเป็นพักๆ คล้ายปวดท้องประจำเดือน แต่อาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน
  2. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  3. มีปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดง หรือบางครั้งอาจมีนิ่วก้อนเล็กๆ หรือมีเม็ดทรายปนออกมากับปัสสาวะด้วย
  4. เมื่อกดบริเวณที่ปวดจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือบางครั้งก็อาจรู้สึกสบายขึ้น
  5. ถ้าก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไตจะมีอาการปวดในท้องรุนแรง
  6. หากมีอาการหนัก จะปวดท้องพร้อมกับมีไข้สูง แม้จะรับประทานยาบรรเทาปวดแล้วก็ยังไม่หาย

> กลับสารบัญ


วิธีการวินิจฉัยนิ่วในไต

หากเริ่มรู้สึกว่า มีอาการปวดท้องบ่อยๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือปวดมากจนทนไม่ไหว รับประทานยาบรรเทาปวดก็ไม่หาย ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นแสดงว่าก้อนนิ่วอาจมีขนาดใหญ่ เมื่อมาพบแพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

  1. ซักจากประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย
  2. การตรวจปัสสาวะ หากพบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต
  3. ตรวจเลือด หาปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือด
  4. การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การเอกซเรย์ช่องท้อง อัลตราซาวด์ไต เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพรังสีไตด้วยการฉีดสารทึบรังสี เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องนำปัสสาวะไปวิเคราะห์ดูสารที่เป็นปัจจัยของการเกิดนิ่วด้วย

> กลับสารบัญ


การรักษานิ่วในไต

การรักษาอาการนิ่วในไต เบื้องต้นหากนิ่วมีลักษณะที่ก้อนเล็กมากๆ ไม่เกิน 5 มิลลิเมตรจะรักษาได้ด้วยการดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับให้นิ่วออกมาทางปัสสาวะ แต่หากไม่สามารถขับนิ่วออกมาด้วยวิธีนี้ได้ หรือก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่เกินไป จะมีวิธีการรักษา ดังนี้

  1. การใช้เครื่องสลายนิ่ว เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำให้ก้อนนิ่วแตกตัว ซึ่งจะสลายตัวหลังจากใช้เครื่องสลายนิ่วประมาณ 1 ชั่วโมง และจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะภายหลังการรักษาแล้วหลายวันถึง 1 สัปดาห์
  2. การส่องกล้องสลายนิ่ว จะเป็นการสลายนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้อง Nephroscope ส่องเข้าสู่ไตผ่านทาง Nephrostomy tract แทงผ่านผิวหนังบริเวณเอวเข้าสู่ไตโดยตรง แล้วใช้เครื่องมือคีบเอานิ่วออก
  3. การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล

> กลับสารบัญ



อย่างไรก็ตามเมื่อรักษานิ่วในไตแล้ว ควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆ เลวร้ายลง หรือเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม รวมทั้งควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ควบคุมน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ จำกักการรับประทานอาการบางชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย