ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว รักษาได้ด้วย TMS ลดปวด
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ
ทุกคนล้วนเคยมีอาการปวดศีรษะ และคนทั่วไปมากกว่า 90% จะเคยปวดศีรษะอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตำแหน่งของการปวดที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอันตรายแก่ร่างกาย ซึ่งอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยนอกเหนือจากปวดศีรษะไมเกรน คือ ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวรอบศีรษะ (Tension Headache) แม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อสมอง แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจปวดตึงไปที่ท้ายทอย บ่า ไหล่ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในที่สุด ทั้งนี้อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วย เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS (Transcranial Magnetic Stimulation)
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวคืออะไร
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache) อาการปวดศีรษะจากความเครียด มักมีอาการปวดที่ท้ายทอย อาจร้าวไปขมับสองข้างหรือปวดทั่วศีรษะ เหมือนอะไรมาบีบมารัด อาจมีอาการปวดร้าวมาสะบักไหล่ทั้ง 2 ข้าง อาการค่อยๆ เป็น มักเริ่มตอนบ่ายหรือเย็น อาการปวดอาจเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเครียดและการพักผ่อน โรคนี้พบได้ในทุกวัย มักเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5-2 เท่า
สาเหตุของอาการปวดเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้ปวดศีรษะ อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อรอบๆ ศีรษะมีการเกร็งตัวซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด คร่ำเคร่งกับงาน ความหิว อดนอน อ่อนเพลีย ใช้สมองหรือสายตาเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์หรือการปรับตัว
อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อๆ หนักๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะหรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะหรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด อาจมีอาการปวดร้าวมาสะบักไหล่ทั้ง 2 ข้าง นาน 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมง บางรายอาจนานเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือน โดยอาการปวดจะคงที่ ส่วนใหญ่จะปวดเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนน้อยอาจรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยจะไม่มีคลื่นไส้ อาเจียน และไม่เป็นมากขึ้นเมื่อถูกแสดง เสียง กลิ่นหรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกายแบบไมเกรน
อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นตั้งแต่หลังตื่นนอน หรือใช้ช่วงเช้า บางรายอาจปวดตอนบ่าย หรือเย็น หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมาก หิวข้าว หรือขณะมี เรื่องคิดมากวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
วินิจฉัยได้อย่างไร
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะอาการ และตำแหน่งที่ปวดศีรษะเป็นหลัก เช่น เช่น ปวดตื้อๆ ปวดบีบๆ ปวดเหมือนมีอะไรมารัดศีรษะ เป็นต้น พร้อมทั้งดูว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เห็นภาพซ้อน มีเสียงดังในหู นั้นอาจเป็นอาการที่แสดงว่าไม่ใช่ปวดศีรษะจากความเครียดธรรมดา ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นจะต้องมีการตรวจพิเศษทางสมองเพิ่มเติม เช่น CT scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) หรือ MRI Brain (เอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า)
อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวรักษาด้วย TMS
เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS หรือ การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache) เพื่อลดความรุนแรงของอาการปวดและความถี่ของการกำเริบ ควบคู่ไปกับการการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS มีความปลอดภัยสูงมาก เนื่องจากมีผลอยู่ในวงจำกัดที่แคบมาก เพียง 1-3 เซนติเมตร จากหัวกระตุ้น จึงไม่มีผลกระทบที่อันตรายต่ออวัยวะของร่างกาย
ในขั้นตอนการรักษานั้นจะนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็กมาวางที่กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที โดยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันประมาณ 3-5 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้านสมองและระบบประสาทจะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทำกี่ครั้งรวมถึงความถี่ในการทำต่อสัปดาห์ และจากการเข้ารับการรักษานั้น จะเริ่มเห็นผลประมาณครั้งที่ 2-3 เป็นต้นไป เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ไม่สร้างบาดแผลหรือความเจ็บปวดใดๆ ขณะรักษาแก่ผู้ป่วย
ข้อห้ามในการรักษาด้วย TMS
ข้อห้ามหลักๆ คือ ห้ามใช้ในบุคคลที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดที่ฝังในร่างกาย หรือใส่เครื่องระบายน้ำในโพรงสมอง ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักหรือมีประวัติชัก ผู้ป่วยที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง และผู้ป่วยที่มีอวัยวะเทียมที่เป็นโลหะที่เพิ่งใส่มาไม่นาน
หากมีอาการปวดตื้อๆ หนักๆ ที่ขมับ หน้าผาก ปวดท้ายทอยมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ และแต่ละครั้งปวดนานมากกว่า 3-4 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมาก อย่าชะล่าใจปล่อยให้อาการรุนแรง ควรรีบมาพบแพทย์และทำการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท