ปวดหลังส่วนล่าง อาการบ่งชี้โรคสำคัญที่ไม่ควรละเลย
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) หมายถึง อาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังตึงหรือมีอาการหลังแข็ง ในตำแหน่งตั้งแต่หลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น โดยบางกรณีอาจมีอาการปวดร้าวลงขา เกิดได้ทั้งจากการเสื่อมและโรคของกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยการเสื่อมเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดปุ่มกระดูกงอกเล็ก ๆ ไปเบียดกดประสาทไขสันหลังช่วงล่างเกิดอาการทางระบบประสาท และทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ
สารบัญ
อาการปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดหลังส่วนล่างสามารถแบ่งตามระยะ ได้ดังนี้
- อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
- อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน (Subacute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน
- อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน
สาเหตุอาการปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดหลังส่วนล่างส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคกระดูกสันหลังซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- โรคของเอ็นและกล้ามเนื้อหลัง
- โรคความเสื่อมข้อติดกระดูกสันหลัง
- โรคของหมอนรองกระดูก
- โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ
- โรคเกี่ยวกับการผิดรูปของกระดูกสันหลัง
- โรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ
- โรคการอักเสบที่ไม่ใช่ติดเชื้อ
- โรคมะเร็งซึ่งรวมทั้งมะเร็งของกระดูกสันหลัง และ มะเร็งแพร่กระจาย มาที่กระดูกสันหลัง
- โรคที่เกิดจากอุบัติเหตุของกระดูกสันหลัง
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังส่วนล่างอาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะภายใน และอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงสาเหตุทางจิตใจ ดังนั้น หากตรวจวินิจฉัยแล้วไม่พบสาเหตุจากโรคเกี่ยวกับหลัง อาจจะต้องพิจารณาการตรวจวินิจฉัยสาเหตุอื่น ๆ แบบแยกโรค
โรคที่พบได้บ่อยเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง
- โรคเอ็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute back strain) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์ อาการที่พบจะปวดหลังแต่ไม่ร้าวไปที่ขา สาเหตุเพราะกล้ามเนื้อหลังแข็งและเกร็งทำให้แนวแอ่นตัวของหลังหายไป เมื่อกดกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลังจะรู้สึกเจ็บ ลักษณะอาการดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะการเกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุ
- โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Lumbar disc herniation) พบในผู้ป่วยอายุน้อยไม่เกิน 50 ปี มักเป็นแบบเฉียบพลัน ภายหลังการยกของหนักหรือหมุนตัวผิด ทำให้มีหมอนรองกระดูกแตกออกไปทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา อาจมาพร้อมอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาท L4, L5, S1 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบบ่อย
- โรคช่องบรรจุไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis) ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงขาและมีอาการน่องชาหรือไม่มีแรงเมื่อมีการเดินไกล แต่เมื่อนั่งพักเพียงไม่กี่นาทีอาการก็จะดีขึ้นและสามารถเดินต่อไปได้อีก โดยอาการค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งใช้เวลาเป็นปี
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังส่วนล่าง
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง แพทย์จะทำการซักจากประวัติ และส่งตรวจพิเศษทางรังสี ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องรับการตรวจทุกราย โดยเฉพาะผู้ป่วยซึ่งเพิ่งมีอาการมาไม่นานและไม่รุนแรง ซึ่งภาพถ่ายทางรังสีแต่ละชนิดจะให้ข้อมูลและประโยชน์กับผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างต่างกันไป เช่น
- Plain radiograph การ x-ray ธรรมดาดูโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่มีลักษณะผิดรูปต่าง ๆ แต่ไม่สามารถดูความผิดปกติของหมอนรองกระดูก เส้นประสาทและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- Computer Tomography (CT Scan) ภาพถ่ายทางรังสีใช้ดูโครงสร้างของกระดูกคล้ายกับการดู Plain film แต่มีความละเอียดกว่ามาก และมีการตัดภาพของแต่ละส่วนในระนาบต่าง ๆ ทำให้เห็นพยาธิสภาพของกระดูกได้ชัดเจนนอกจากนี้ยังสามารถประมวลภาพในแต่ละระนาบทำให้เกิดเป็นรูปสามมิติซึ่งหมุนดูได้ทุกด้าน อย่างไรก็ตามข้อเสียของ CT Scan คือการดูเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรวมถึงหมอนรองกระดูกจะมีความคมชัดน้อยกว่า MRI
- Magnetic Resonance Imaging (MRI) การถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยการ x-ray คลื่นสนามแม่เหล็ก เป็นการส่งตรวจที่ให้ความละเอียดสูงสุดและสามารถให้มุมมองภายในของกระดูกสันหลังในทุกระนาบ สามารถดูได้ทั้งหมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นประสาท กระดูก น้ำไขสันหลัง ดังนั้นการตรวจ MRI จึงเป็นการตรวจที่ดีที่สุดในการค้นหาความผิดปกติและช่วยวินิจฉัยโรคที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลัง
จุดมุ่งหมายในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง
เนื่องจากสาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่างมีหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละโรคจะมีการรักษาที่เฉพาะของแต่ละโรค ในที่นี้จะกล่าวถึงการรักษาโดยรวมในการดูแลผู้ป่วยปวดหลังและการส่งต่อ ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างมีจุดมุ่งหมายดังนี้
- ลดอาการปวดของผู้ป่วย ให้สามารถขยับตัวได้เป็นปกติและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม
- ป้องกันการเกิดซ้ำของโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากการใช้งานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง
- ให้ผู้ป่วยนอนพัก จากการศึกษาพบว่าการนอนพักเพียง 2-3 วัน จะให้ผลการรักษาดีกว่าการนอกพักยาว 1 สัปดาห์
- เมื่อผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นควรให้มีการขยับตัว ลุกนั่ง และยืน โดยหลีกเลี่ยงการก้มของหลัง โดยช่วงนี้อาจให้ผู้ป่วยใช้ผ้าคาดเอว
- การให้ยาแก้ปวดผู้ป่วย เช่น ยา Paracetamol แม้จะออกฤทธิ์ได้สั้นและมีฤทธิ์น้อยแต่ก็สามารถใช้ได้ดีและปลอดภัย ยาต้านการอักเสบ non-steroidal, anti-inflammatory drugs (NSAIDs) สามารถลดอาการปวด ลดอักเสบได้ดีมาก แต่ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงด้วย ซึ่งควรเลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย โรคประจำตัวของผู้ป่วย เป็นต้น
- การส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด สามารถลดอาการปวดเฉียบพลันซึ่งมีหัตถการทางกายภาพหลายอย่างในการลดปวด เช่น ultrasound, short wave, TENS, electro-acupuncture, traction, and manipulation เป็นต้น
- การให้ความรู้กับผู้ป่วยเกี่ยวกับการเดินการยืน ท่าทางในการก้มลงยกของ ซึ่งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำของอาการปวดหลัง โดยร้อยละ 80-90 สามารถรักษาให้หายด้วยการรักษาแบบประคบประคอง ด้วยการทานยาและกายภาพบำบัดแต่ถ้ารักษาแบบประคับประคองไม่หาย อาจต้องกลับมารับการพิจารณาเพื่อรับการรักษาต่อไป หรือหากรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดรักษา
หากมีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง ปวดรุนแรง มีปวดร้าวไปที่ขาหรือเท้า มีอาการแสบร้อนหรือยืนหรือเดินไม่ได้ อาการเหล่านี้ คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังส่วนล่างธรรมดา เพราะอาการปวดหลังนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติหรือโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง