หัวไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย จึงมักใช้หัวไหล่ในกิจวัตรประจำวันต่างๆ อย่างมาก หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวไหล่ จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมากขึ้น โดยอาการปวดไหล่ นับเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง ปวดตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไปไม่ควรชะล่าใจ และปล่อยไว้นาน เพราะอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด
ปวดไหล่เรื้อรัง เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
อาการปวดไหล่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการบ่งชี้ก็จะมีอาการปวดบริเวณต้นแขน ปวดด้านหลังหัวไหล่ ปวดบริเวณต้นคอและสะบัก โดยสาเหตุของอาการปวดไหล่อาจเกิดจากปัญหาของโครงสร้างในข้อไหล่เอง กระดูก กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือถุงหุ้มเส้นเอ็น โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ อาชีพ ความผิดปกติจากอวัยวะข้างเคียง ได้แก่
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้กล้ามเนื้อฉีดขาด เส้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก หรือข้อเคลื่อน
- การใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาด
- การเสื่อมตามธรรมชาติของกระดูก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งพบในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค
- โรคข้ออักเสบที่มีข้อไหล่อักเสบร่วมด้วยได้ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น
- เส้นเอ็นอักเสบ และมีแคลเซียมมาเกาะ ซึ่งเมื่อ X-ray จะเห็นหินปูนสีขาวบริเวณรอบข้อไหล่
- ถุงน้ำข้อไหล่อักเสบ
- อาการปวดไหล่ซึ่งเป็นผลของอาการปวดร้าวมาจากที่อื่น (Referred pain) หรือการอักเสบบริเวณใกล้เคียง เช่น กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อหลังอักเสบ เส้นประสาทเบรเคียลอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคตับ โรคมะเร็ง เป็นต้น
- ข้อไหล่ติดแข็ง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
2 โรคข้อไหล่ที่พบมาก
โรคเกี่ยวกับข้อไหล่ที่พบมาก ที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ ได้แก่
1. ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด เกิดขึ้นได้ทั้งวัยทำงาน นักกีฬา และวัยผู้สูงอายุ เกิดจากการเคลื่อนไหวที่ผิดท่าทาง ภาวะเสื่อมของเส้นเอ็น หรือเกิดจากการใช้งาน การเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่ได้รับการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดเวลานอน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับ ปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลงในบางท่า อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่ และไม่สามารถใช้งานไหล่ได้ปกติ ส่วนใหญ่เส้นเอ็นมักฉีกขาดบริเวณตำแหน่งที่เส้นเอ็นเกาะกับกระดูกต้นแขน ซึ่งอาจฉีกเส้นเดียวหรือหลายเส้นก็ได้
สำหรับการรักษาเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ทำได้โดยการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery)
2. ข้อไหล่ติดแข็ง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อมีอาการปวดไหล่จากสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยก็จะไม่เคลื่อนไหวข้อไหล่ เมื่อข้อไหล่ไม่เคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเกิดพังผืดแทรกในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ นอกจากนี้ยังทำให้กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง และลีบเล็กลงทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก
ภาวะข้อไหล่ติด เบื้องต้นจะรักษาแบบประคับประคองด้วยการทานยา การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้การติดยึดของข้อไหล่ลดน้อยลง เพิ่มการขยับให้มากขึ้น โดยอาจใช้ร่วมกับการประคบร้อน เย็น แต่หากไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ทำการตัดแต่งเยื่อหุ้มข้อ หรือพังผืดที่เป็นตัวการออก
อาการปวดไหล่แบบไหนที่ควรพบแพทย์
หากมีอาการเหล่านี้ให้มาพบแพทย์
- มีอาการปวดไหล่ติดต่อกันนานกว่า 1 เดือน และอาการไม่ดีขึ้นหรือปวดมากขึ้น
- ไม่สามารถยกแขนได้เกินระดับไหล่ มือไพล่หลังไม่ได้ หรือมีอาการไหล่ติด
- ปวดไหล่มากเวลานอน จนตื่นกลางดึกหรือไม่สามารถนอนทับไหล่ข้างที่มีอาการได้
- หัวไหล่บวม
- มีเสียงเมื่อขยับแขน ร่วมกับอาการเจ็บและปวดไหล่
การรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรัง
หลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ (X-Ray) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อแยกโรคอื่นๆ ออกไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว ด้านการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับโรค และอาการแสดงของผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่
- การประคบด้วยความเย็นในขณะที่มีอาการปวดรุนแรง ปวดเฉียบพลัน ความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- การประคบด้วยความร้อน โดยใช้ถุงน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นใช้ในกรณีที่มีอาการปวดไม่รุนแรง จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- รับประทานยาบรรเทาอาการปวด ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
- การทำกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถทำเองได้ตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด อย่างเช่นการยืดกล้ามเนื้อในท่าต่างๆ หรือเข้ารับการกายภาพบำบัดด้วยเทคโนโลยีตามโปรแกรมที่เหมาะสม
- การผ่าตัด จะกระทำเมื่อให้การรักษาไประยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการฉีกขาดของเอ็น หรือกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ในระยะเจ็บปวดเฉียบพลันควรหยุดพักการใช้ข้อไหล่ โดยงดยกของหนัก งดเคลื่อนไหวแขนหรือไหล่ในท่าที่ทำให้ปวด อาจใช้ผ้าคล้องแขนไว้แต่ไม่ควรหยุดใช้ไหล่เกิน 2-3 วัน เพราะจะทำให้เกิดภาวะข้อไหล่ติดแข็งได้ หากพบว่ามีอาการปวดไหล่เรื้อรังไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ