ปัญหาหนักใจของคุณแม่ ลูกดูดนิ้ว-กัดเล็บ ทำอย่างไรดี
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
กลายเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับคุณแม่ทั้งหลาย เมื่อลูกชอบดูดนิ้ว กัดเล็บ คุณแม่จึงงัดสารพัดวิธีออกมาใช้ บางรายถึงขั้นเอายาขมมาทาที่นิ้วลูกเลยก็มี แต่ก็ยังไม่ได้ผล ครั้นจะปล่อยไว้ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ ไปดูคำแนะนำจากจิตแพทย์เด็กสำหรับทางออกของปัญหานี้กันดีกว่า
สารบัญ
พฤติกรรมการดูดนิ้วในเด็ก
พฤติกรรมการดูดนิ้ว เป็นพฤติกรรมปกติที่พบได้ในเด็กแรกเกิดจนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่เมื่อเด็กอายุมากกว่า 2 ปี จะค่อยๆ เลิกดูดนิ้วกันไปเอง แต่ในเด็กบางคนอาจพบว่ามีการดูดนิ้วต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมักจะดูดเฉพาะเวลาก่อนนอน พบได้จนกระทั่งเด็กอายุ 5 – 6 ปี นอกจากนี้บางภาวะ เช่น ง่วงนอน เครียด กังวล เพลิน ก็อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมดูดนิ้วได้ ปัญหาที่พบได้บ่อยจากการดูดนิ้วเป็นระยะเวลานาน คือ เสียบุคลิกภาพ ฟันสบกันไม่ดี หรือติดเชื้อทางเดินอาหารได้
วิธีการแก้ไขพฤติกรรมการดูดนิ้วในเด็ก สามารถทำได้ดังนี้
- พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทราบและทำความเข้าใจก่อนว่าเป็นพัฒนาการปกติในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ จึงควรงดการต่อว่า ลงโทษ หรือการทำให้เด็กไม่สบายใจ
- พ่อแม่ควรให้ความรัก ความใส่ใจเป็นปกติ ไม่ควรให้ความสนใจพฤติกรรมกับการดูดนิ้วของเด็กมากเกินไป
- หากเห็นว่าเด็กกำลังดูดนิ้ว ให้ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ชวนไปทำกิจกรรมอื่นด้วยกัน หรือหาสิ่งของหรือของเล่นอื่นมาให้เด็กจับแทน เป็นต้น
- อย่าปล่อยให้เด็กเหงา หรือเบื่อหน่าย ควรมีกิจกรรมให้เด็กทำอยู่เสมอ
พฤติกรรมกัดเล็บในเด็ก
ส่วนเด็กที่มีพฤติกรรมกัดเล็บ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป พบมากในช่วงอายุ 10 – 20 ปี และจะพบน้อยลงในวัยผู้ใหญ่ พบได้ในสังคมทุกระดับและทุกเชาว์ปัญญา ซึ่งมีแนวโน้มว่าเจอมากในครอบครัวที่เคยมีประวัติกัดเล็บมาก่อน อาการกัดเล็บมักเกิดมากในช่วงเวลาที่ตึงเครียดหรือเบื่อหน่าย ส่วนเวลาที่เด็กเล่นสนุกสนาน สบายใจการกัดเล็บจะลดลง บางครั้งพบการกัดเล็บร่วมกับพฤติกรรมอื่น เช่น อยู่ไม่นิ่งกระสับกระส่ายง่าย ตื่นเต้นง่าย มีความตึงเครียดภายในบ้าน และในบางคนพบร่วมกับการกระตุ้นร่างกายอื่นๆ เช่น การดูดนิ้ว การแคะจมูก การกระตุ้นอวัยวะเพศ เป็นต้น
วิธีการดูแลรักษาพฤติกรรมกัดเล็บในเด็ก สามารถทำได้ดังนี้
- ควรลดความตึงเครียดต่อเด็ก ลดการตำหนิ ลงโทษ การทายารสขม การผูกมัดมือ
- ให้หาสาเหตุที่เริ่มทำให้เกิดอาการ โดยแก้ไขที่สาเหตุ ในทางตรงข้าม ควรให้กำลังใจ หรือให้รางวัลหากเด็กเอาชนะปัญหาได้
- นอกจากนี้พยายามให้เด็กควบคุมตนเอง และมีส่วนร่วมในการรักษา
- ทำให้เด็กภูมิใจในเล็บและนิ้วมือของตัวเอง เช่น สอนให้หัดแต่งเล็บ แช่เล็บในน้ำอุ่น เช็ดเล็บและผิวหนังรอบๆ ด้วยน้ำมันมะกอกด้วยตัวเอง เป็นต้น
- หากเห็นว่าเด็กกำลังกัดเล็บ ให้ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นแทน
- ตอนกลางคืน อาจใช้วิธีสวมชุดนอนแขนยาวที่คลุมมือ หรือสวมถุงมือบางๆ
อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ เช่น อาการระคายเคือง การติดเชื้อและเสียบุคลิกภาพ เป็นต้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก