ปัสสาวะขัด ปัสสาวะสะดุด เสี่ยงต่อมลูกหมากโต
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม
คุณผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป คุณเคยสังเกตตัวเองไหมว่าคุณมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะสะดุด เบ่งนานกว่าจะออก ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน โดยอาการที่ว่ามานี้จะเริ่มแสดงออกอย่างชัดเจนหลังจากอายุ 50 ปี ขึ้นไปแล้ว ซึ่งสาเหตุมาจากต่อมลูกหมากโตขึ้นไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลงทำให้เกิดอาการปัสสาวะผิดปกตินั่นเอง และเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดอาการดังกล่าวก็จะเพิ่มสูงขึ้น
สารบัญ
หากคุณมีอาการเตือนเหล่านี้ เสี่ยงต่อมลูกหมากโต
- ปัสสาวะขัด ต้องเบ่ง ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ
- มีปัญหาเรื่องการไหลของปัสสาวะ ไม่เป็นสาย ไหลกระปริบๆ
- ปัสสาวะสะดุด ไหลๆ หยุดๆ
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น บ่อยมากๆ
- ปัสสาวะไม่สุดและมีหยดๆ ตามมาตอนท้าย
- ตื่นบ่อยๆ เนื่องจากการปัสสาวะบ่อย
- เกิดการปัสสาวะเล็ด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้
- ปัสสาวะแล้วมีอาการเจ็บ อาจจะทั้งองคชาติ และ หรือ อัณฑะ
ถ้าคุณมี 3 อาการขึ้นไป สันนิษฐานได้เลยว่ามีความผิดปกติบางอย่างกำลังเกิดขึ้นกับต่อมลูกหมากของคุณ ถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพของต่อมลูกหมากอย่างจริงจังก่อนจะนำไปสู่กรวยไตอักเสบและไตวายเรื้อรังในที่สุด
โรคต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย
โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hypertrophy: BPH) คือภาวะที่ต่อมลูกหมากซึ่งมีหน้าที่ผลิตน้ำเมือกหล่อลื่นและเลี้ยงอสุจิ มีขนาดโตขึ้นตามอายุขัย เพราะมันถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ความที่ต่อมลูกหมากมันอยู่ในที่แคบ เมื่อมันโตถึงระดับหนึ่งก็จะกดทับท่อปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ผู้ชายอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคนี้ 1 ใน 3 เลยทีเดียว เรียกว่าเป็นโรคยอดนิยมของชายสูงอายุก็ว่าได้
ทั้งนี้โรคต่อมลูกหมากโต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือปล่อยปะละเลย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เกิดปัสสาวะไม่ออกทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป ต่อมลูกหมากบวมปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะครากหรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมไปถึงการทำงานของไตเสื่อมลง และไตวายได้
การตรวจและวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตนั้นทำได้ดังนี้
แพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามอาการด้านปัสสาวะของตัวเอง เพื่อประมาณความรุนแรงและใช้ในการติดตามอาการหลังจากรักษา และการตรวจอื่นๆ ดังนี้
- ตรวจสอบร่างกายและซักประวัติคนไข้โดยละเอียด
- การตรวจต่อมลูกหมากทางท่อทวารหนัก “ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) เพื่อดูลักษณะผิดปกติและความแน่นของเนื้อต่อมลูกหมาก
- ทำการทดสอบเพื่อวัดอัตราการไหลของปัสสาวะ
- ตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ
- วัดปริมาณปัสสาวะที่เก็บอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- อัลตราซาวด์ขนาดต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลง
- เจาะ PSA เพื่อแยกโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคต่อมลูกหมากโตรักษาได้อย่างไร?
การรักษาจะมุ่งเน้นที่จะให้อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีวิธีการรักษาแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ลดการดื่มน้ำลงในช่วงเวลากลางคืน ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ถ้าอาการดีขึ้นไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยยาต่อไป
- การรักษาด้วยยา แพทย์อาจจะสั่งยาบางชนิดให้ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้มีลักษณะอ่อนตัวลง (Alpha-Blockers) หรือบางครั้งอาจใช้ Proscar (Finasteride) ซึ่งจะช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากให้มีขนาดเล็กลง แต่ถ้าในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน หรือในรายที่เป็นมากๆ แต่อยู่ในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมแต่ละอาการของแต่ละบุคคล
- การรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อขูดตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate-TURP) เป็นการผ่าตัดที่นำเอาบางส่วนของต่อมลูกหมากที่ขวางท่อทางเดินปัสสาวะออกมา โดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะจากแพทย์จะใช้วิธีตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อตัดและหยุดเลือดออกไปได้พร้อมกัน
สำหรับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจร่างกายทุกๆ ปี ถ้าเป็นไปได้ เพื่อหาความเสี่ยงของโรคนี้และโรคอื่นๆ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติในระบบขับถ่ายปัสสาวะดังกล่าว ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม