ผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ลูกเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร
การดำเนินชีวิตของผู้หญิงในปัจจุบันร่วมกับระดับการศึกษา ความสามารถและโอกาสในการทำงานในระดับที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้แต่งงานช้า หรือตั้งครรภ์และมีบุตรเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก คือ ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อปัญหาสุขภาพและอันตรายทั้งต่อตนเองและทารกในครรภ์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งลูกยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของโครโมโซม โดยเฉพาะการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สารบัญ
ผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมากเสี่ยงอะไรบ้าง
การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากส่งผลกระทบต่อผู้หญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ดังนี้
- การแท้งบุตร ผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมากมีโอกาสแท้งบุตรได้สูงกว่าผู้หญิงตั้งครรภ์อายุน้อย
- ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้องทั้งในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และในระยะหลังคลอดโดย ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่
- เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เพราะในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะนำอินซูลินไปใช้ได้ไม่เต็มที่จึงอาจทำให้ระบบควบคุมน้ำตาลในเลือดผิดปกติจนเกิดโรคเบาหวานตามมา
- ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เกิดความดันโลหิตสูง ทั้งที่ไม่เคยเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน ร่วมกับภาวะโปรตีนสูงในปัสสาวะ
- รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกเกาะอยู่ที่ผนังมดลูกส่วนล่าง หรือใกล้ปากมดลูก เมื่อเข้าสู่ระยะใกล้คลอด มดลูกจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปากมดลูกจะเริ่มบางและยืดขยายออก รกที่เคยเกาะแน่นก็จะมีรอยปริและเกิดแยกตัว ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด ถ้ารกเกาะต่ำมากหรือไปขวางปากมดลูก อาจทำให้ตกเลือดมากจนเสี่ยงต่อภาวะช็อก หรือทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนและเสียชีวิตในครรภ์ได้
- ท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติที่ตัวอ่อนฝังตัวนอกโพรงมดลูก ตัวอ่อนจึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งอาจมีผลเสียต่อท่อนำไข่และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุเกิดจากการอักเสบของท่อนำไข่ ส่งผลให้เกิดพังผืดจนท่อนำไข่ตีบแคบและผิดรูป ตัวอ่อนจึงไม่สามารถเคลื่อนผ่านไปได้ในเวลาที่เหมาะสม
- การคลอดก่อนกำหนด การคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ โดยมีสาเหตุมาจากมดลูกบีบตัว ปากมดลูกเปิดและบางก่อนกำหนด การคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมาอาจมีการเจริญเติมโตที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่
ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ความเสี่ยงของผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก
ผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของโครโมโซม โดยเฉพาะการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมเพิ่มสูงมากขึ้น โดยภาวะดาวน์ซินโดรม เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 ตัว ตัวอ่อนจึงเกิดความบกพร่องทางสติปัญญา และจะมีรูปร่างหน้าตาที่ผิดปกติ เช่น ตัวเตี้ย ศีรษะเล็ก ตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ใบหูเล็ก และต่ำ เป็นต้น
ผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมากต้องดูแลอย่างไร
เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ตอนอายุมาก หรือ อายุ 35 ปีขึ้นไป ถึงจะมีความเสี่ยงมาก แต่ถ้าสามารถฝากครรภ์ได้เร็ว แพทย์จะดูแลได้อย่างใกล้ชิด จะสามารถคำนวณอายุครรภ์ กำหนดวันคลอดและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นได้ โดยจะต้องเข้ารับการตรวจ เช่น
- การตรวจเลือด ตรวจภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง และตรวจภายในเพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก เอดส์ กามโรค ตับอักเสบ และคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
- ตรวจภาวะแทรกซ้อนด้วยอัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจดูโครงสร้างร่างกายทารกในครรภ์ สามารถประเมินความผิดปกติของทารกได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า รวมถึงความผิดปกติของหัวใจ โดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Maternal Fetal Medicine – MFM) โดยเฉพาะ
- การเจาะเลือดตรวจคัดกรองภาวะผิดปกติของโครโมโซม หรือคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมด้วย NIPT โดยไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ แต่หากตรวจพบความเสี่ยงอาจต้องมีการเจาะน้ำคร่ำเพิ่มเติม
- การตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษ
เมื่อตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่มาก การปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ ตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และหมั่นพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูกได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี