“ผ่าตัดส่องกล้องข้อและเอ็น” เทคโนโลยีทันสมัย ตรวจและรักษาในเวลาเดียวกัน
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. ประกาศิต ชนะสิทธิ์
หากมีอาการปวดรุนแรง ปวดเรื้อรัง บวม แดง กดเจ็บ บริเวณข้อเข่า ข้อไหล่ เส้นเอ็น ขยับไม่ได้ เดินไม่ได้ กระทบต่อชีวิตประจำวัน นั่นอาจไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะอาจมีภาวะเอ็นเข่าขาด เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด หรือภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดภายในข้อได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวถือว่าต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยหนึ่งวิธีการรักษานั้นคือ “การผ่าตัดส่องกล้องข้อ (Arthroscopic Surgery)” จะช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ด้วยขนาดของแผลผ่าตัดที่เล็กลง พักฟื้นเพียงไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้ไวขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น
สารบัญ
ปัญหาข้อและเอ็นใดบ้างที่รักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
1. การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าใช้ได้กรณีดังต่อไปนี้
- เส้นเอ็นเข่าขาด, หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด, เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด จากการเล่นกีฬาฟุตบอล หรือจากการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ การพลัดตกหกล้มจากที่สูง การตกบันได เป็นต้น
- กระดูกอ่อนผิวข้อแตก สามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องเข่าในการปรับสภาพผิวข้อ รวมถึงการปลูกถ่ายกระดูกอ่อนผิวข้อ
- ภาวะข้อเข่าเสื่อมที่พบมากในผู้สูงอายุ ที่มีอาการปวด บวม ขัดหรือเสียวขณะเดินโดยเฉพาะขึ้นลงบันได หรือนั่งพับขาไม่ได้ สามารถเลือกใช้การผ่าข้อเข่าเสื่อมแบบส่องกล้องเพื่อลดอาการปวดจากข้อเสื่อมได้
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีเยื่อบุข้อที่อักเสบมาก แม้ควบคุมด้วยยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น
2. การผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่ใช้ได้กรณีดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดส่องกล้องซ่อมเอ็นหัวไหล่ขาด, เอ็นรอบข้อไหล่อักเสบ, หมอนรองเบ้าฉีกขาด
- ข้อหัวไหล่ติด รักษาโดยยาและการทำกายภาพแล้วไม่ดีขึ้น
- ข้อหัวไหล่หลุดไม่มั่นคง, ไหล่หลุดบ่อยไม่มั่นคง
- ผ่าตัดซ่อมเยื่อหุ้มข้อ, หินปูนจับที่เอ็นรอบข้อไหล่
- กระดูกไหล่หักแตกเข้าข้อ, ข้อบริเวณไหล่เสื่อม
ซ่อมเส้นเอ็นหัวเข่า - หัวไหล่ ด้วยการผ่าตัดข้อผ่านกล้อง
หัวไหล่ฉีก สาเหตุเกิดจากอะไร? แล้วถ้าฉีกแล้วจะสามารถรักษาให้หายได้ไหม? มีวิธีการรักษาอย่างไร? ร่วมหาคำตอบไปกับ นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ในคลิปวีดีโอนี้กันได้เลย
หรือหากคุณกำลังประสบปัญหากับเอ็นหัวไหล่-หัวเข่า ฉีกขาก กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน รักษามาหลายวิธีแต่ก็ยังไม่หาย ต้องการหาแนวทางรักษาเพิ่มเติม สามารถเข้ามาปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ที่โรงพยาบาลนครธน
3. การผ่าตัดกล้องส่องข้อบริเวณอื่นๆ เช่น
- ข้อศอก เพื่อผ่าตัดรักษาการติดยึดจากพังผืดภายในข้อ, เยื่อหุ้มข้ออักเสบรุนแรง
- ข้อมือ เพื่อผ่าตัดรักษาเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ และตรวจวินิจฉัยอาการปวดข้อมือเรื้อรัง
- ข้อเท้า เพื่อผ่าตัดรักษากระดูกอ่อนแตก เยื่อหุ้มข้ออักเสบ และตรวจวินิจฉัยอาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง
การผ่าตัดส่องกล้องข้อและเอ็นเป็นอย่างไร
การผ่าตัดส่องกล้องข้อ (Arthroscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดภายในข้อ โดยใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปภายในข้อเพื่อตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งแพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพในข้อได้ชัดเจนผ่านจอรับภาพ ขณะเดียวกันก็จะใช้เครื่องมือเล็กๆ เท่าปากกาสอดเข้าไปในข้อเพื่อทำการผ่าตัด แก้ไขพยาธิสภาพนั้นๆ ซึ่งการผ่าตัดในลักษณะนี้ต่างกับการผ่าตัดแบบเดิมที่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่และตัดเนื้อเยื่อที่ดี เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดสูง ต่างจากการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลกว้าง เพียงแต่เจาะผ่านเยื่อหุ้มข้อเข้าไปในข้อได้เลย ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเกิดขึ้นน้อยมาก
ขั้นตอนการผ่าตัดส่องกล้องข้อและเอ็น
การผ่าตัดส่องกล้องข้อ (Arthroscopic Surgery) ถือว่าเป็นการตรวจวินิจฉัยและการรักษาในเวลาเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ การดมยาสลบ หรือทำให้ผู้ป่วยชาเฉพาะบริเวณ โดยผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมข้อที่ผ่าตัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ขั้นตอนในการผ่าตัดนั้น แพทย์จะเจาะรูเข้าไปในข้อทำให้มีบาดแผลเล็กๆ ขนาด 0.8-1.0 ซม. แล้วใช้กล้องขนาด 4 มิลลิเมตรส่องเข้าไปดูภายในข้อหัวไหล่ตรงรอยโรค หากพบความผิดปกติที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะเจาะรูเพิ่มอีกเพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัด ขณะผ่าตัดสามารถต่อกล้องเข้ากับจอภาพ และบันทึกภาพได้ โดยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องจะมีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ขนาด 0.8-1.0 เซนติเมตร จำนวน 2-4 รู ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีรอยโรคมากน้อยเพียงใด
ระงับความเจ็บปวด หลังจากการผ่าตัดส่องกล้องข้อ (Arthroscopic Surgery)
ผู้ป่วยจะไม่ต้องเผชิญกับอาการปวดแผลหลังผ่าตัด ด้วยเทคนิคการระงับความเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัด โดยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย ซึ่งเป็นการใช้เข็มหรือใส่สายคาให้ยาชาที่บริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย เพื่อให้ยาชาออกฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทไม่ให้เข้าไปในไขสันหลัง จะทำภายใต้การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) โดยแพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งเส้นประสาทก่อนจะให้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัด ซึ่งมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ได้เป็นอย่างดี
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องข้อ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องข้อมีข้อดีดังนี้
- สามารถเห็นพยาธิสภาพภายในข้อได้ทั้งหมด และชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล
- รอยแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมาก บางครั้งมองเกือบไม่เห็นแผลผ่าตัด
- ไม่ต้องตัดเยื่อหุ้มข้อ เนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ จึงทำให้การบาดเจ็บจากแผลผ่าตัดน้อยลง
- การเคลื่อนไหวของข้อหลังผ่าตัดทำได้เร็วขึ้น
- การฟื้นฟูและระยะเวลาการรักษาลดลงมากเมื่อเทียบกับการรักษาแบบผ่าตัดเปิดแผลแบบเดิม
- ลดการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ เพราะไม่ได้ผ่าตัดเปิดแผล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย
- ลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลจึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา
ทั้งนี้ การส่องกล้องยังสามารถวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรคได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรักษาได้ทันที หรือวางแผนผ่าตัดในอนาคตได้อีกด้วย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ความประทับใจจากผู้ใช้บริการ
เรื่องราวของคุณภัทรานิษฐ์ มาศวิรุฬห์ ผู้เข้ารับการผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นหัวไหล่ผ่านกล้อง จากอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม โดยมีอาการปวดมากขณะเอี้ยวหลัง ยกของไม่ได้ แม้กระทั่งจะยกแขนใส่เสื้อก็ไม่สามารถทำได้ ทรมานมากจนนอนไม่หลับจึงเข้ามาปรึกษาแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเส้นเอ็นที่หัวไหล่ฉีก สุดท้ายจึงเข้ารับการผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นหัวไหล่ผ่านกล้อง หลังจากที่ตัดสินใจอยู่นาน ซึ่งผลลัพธ์หลังจากผ่าตัดแล้ว คุณภัทรานิษฐ์ มาศวิรุฬห์ ถึงกับบอกเองเลยว่า อาการปวดลดน้อยลงและอาการดีขึ้นกว่าเดิม
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ