พัฒนาการของเด็กวัยอนุบาล ที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
เด็กวัยอนุบาล เป็นวัยที่เริ่มต้นในการเรียนรู้การใช้ชีวิตนอกบ้าน การมีสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น โดยพัฒนาการของเด็กวัยอนุบาล เริ่มจากอายุ 2-5 ปี ระยะนี้เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพมากที่สุด เช่น ต้องการเป็นตัวของ ตัวเองค่อนข้างดื้อ ซุกซนมาก ในบางครั้งความคิดและการกระทำของเด็กจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
สารบัญ
พัฒนาการที่สำคัญ 4 ด้านของเด็กวัยอนุบาล
เด็กวัยอนุบาล จะมีพัฒนาการที่สำคัญ 4 ด้านคือ
- พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนแขนและขายาวออกไป ศีรษะได้ขนาดกับลำตัว โครงกระดูกแข็งแรงขึ้น ฟันแท้จะเริ่มขึ้น 1-2 ปี เริ่มมีทักษะการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แต่งตัวได้ ใส่รองเท้าและอาบน้ำได้
- พัฒนาการด้านอารมณ์ มักเป็นคนเจ้าอารมณ์หงุดหงิดและโกรธง่าย ดื้อรั้น เป็นวัยที่เรียกว่าชอบปฏิเสธและอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อเด็กเข้าโรงเรียน แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ
- พัฒนาการด้านสังคม เริ่มรู้จักคบเพื่อน ปรับตัวรู้จักร่วมมือ ยอมรับฟัง รู้จักแข่งขันระหว่างกลุ่ม 4-5 ขวบ และมักเล่นกับเพศเดียวกัน
- พัฒนาการด้านภาษา เริ่มใช้ภาษาได้ดี ขึ้นรู้จักศัพท์เพิ่มขึ้นมากขึ้น พ่อแม่มีส่วนร่วมการพัฒนาการทางภาษาของเด็กมาก เช่น การชักจูงให้เด็กพูด ซักถาม การแนะนำที่ดี การเน้นคำให้ถูกต้อง เมื่อพูดกับเด็กผู้ใหญ่ยอมรับฟังการพูดคุยของเด็กจะช่วยให้เด็กรู้จักพูดในสิ่งที่มีสาระยิ่งขึ้น
ลักษณะพฤติกรรมทางจิตใจที่พบได้บ่อยในวัยนี้
ลักษณะพฤติกรรมทางจิตใจที่พบได้บ่อยในวัยนี้ คือ
1. ความอิจฉาน้อง
พบได้บ่อยในวัยนี้ เด็กอาจแสดงออกโดยการทุบตีน้อง เย้าแหย่น้อง หรือแสดงความประพฤติไม่เหมาะสม เช่น ดูดนิ้ว พูดติดอ่าง กินอาหารน้อยลง นอนไม่หลับ ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น โดยมากจะเห็นชัดเมื่ออายุระหว่าง 2-4 ปี
สาเหตุของความอิจฉาน้อง
- พ่อ แม่ ผู้ใหญ่อาจเป็นต้นเหตุ เช่น กล่าวกับเด็กว่า “แม่ไม่รักแล้วรักน้องดีกว่า" การเปรียบเทียบเด็กกับน้องๆ ว่าน้องเก่งกว่า น่ารักกว่า การกล่าวชมเชยให้ความสนใจน้องอย่างเกินควรด้วยคำพูดและการกระทำ
- เกิดจากน้อยใจว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า รู้สึกว่าตนสูญเสียความรักที่เคยได้รับจากพ่อแม่ และน้องเป็นผู้ทำให้พ่อแม่รักตนน้อยลง
- เด็กในวัยนี้ยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่อยู่เสมอ เด็กยังไม่รู้จักแบ่งปัน เขายังถือตนเป็นใหญ่อยู่ และยังไม่เข้าใจเหตุผลดีพอเมื่อได้รับการสนใจน้อยลง
- ขาดการอบรมที่ดีพ่อแม่ให้การตามใจทำให้เป็นคนไม่ยอมใคร
วิธีแก้ไข
- บอกให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าตนจะมีน้องใหม่ แม่ควรให้เด็กคุ้นเคยกับน้องในท้อง
- อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าตนมีส่วนเป็นเจ้าของน้องที่จะเกิดใหม่ และให้ความมั่นใจกับเด็กว่าเขาก็ยังเป็นผู้หนึ่งที่ท่านรักและภูมิใจอยู่เสมอ
- หากต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งภายในบ้าน ควรชี้แจงให้เด็กทราบด้วยเหตุผล
- ผู้ที่ดูแลเด็กที่บ้านขณะแม่ไปคลอดควรเป็นผู้ที่คุ้นเคย
- เมื่อแม่กลับจากโรงพยาบาลใหม่ๆ อาจจะให้คนพาเด็กไปเล่นข้างนอก เพื่อไม่ให้เด็กเห็นความชุลมุนวุ่นวายกับการจัดที่ทางให้น้องใหม่และท่าที่คนอื่นๆ ในบ้าน ที่พากันมาสนใจน้องใหม่
- พยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการดูแลน้อง ควรเตรียมให้เขารู้ว่าการเป้นพี่นั้นดีอย่างไรและสำคัญอย่างไร เขาจะทำอะไรให้น้องได้บ้าง
- พ่อแม่ควรให้ความสนใจแก่เด็กตามสมควรเมื่อมีญาติเพื่อนฝูงมาเยี่ยมน้องใหม่
- ไม่แสดงความรักและสนใจน้องจนออกนอกหน้าเกินควร
- ผู้ใหญ่พ่อแม่ควรระวังคำพูดหรือจะกระทำใดๆ ที่ทำให้เด็กเสียกำลังใจหรือเป็นปมด้อย
- เมื่อน้องโตเล่นกับพี่มีทะเลาะกัน พ่อแม่ควรทำตัวเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
- เวลาซื้อของใหม่ให้น้องควรซื้อให้พี่ด้วย
- ถ้าเด็กดีต่อน้องควรให้รางวัลตามสมควร
2. ความดื้อ
เป็นความรู้สึกต่อต้านโดยเฉพาะในช่วงอายุ 2-3 ปี ซึ่งอยู่ในระยะปฏิเสธ ไม่ยอมใคร จะดื้ออย่างที่เขาต้องการทำเท่านั้น อาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บังคับเกินกว่าเหตุตั้งกฎเกณฑ์มากเกินไป
วิธีแก้ไข
- ผู้ใหญ่พ่อแม่ควรร่วมมือกันในการอบรมเด็กไม่ขัดแย้งกันไม่กล่าวโทษกัน
- ตั้งกฎเกณฑ์ที่เด็กสามารถทำได้ตามวัย
- เวลาเด็กทำอะไรควรช่วยแนะนำในแนวทางที่เหมาะสมด้วยเหตุด้วยผล
- งดการดุและการลงโทษพร่ำเพรื่อไม่บังคับเด็กจนเกินไป
- ให้คำชมเชยหรือรางวัลเมื่อเด็กทำดี
แนวทางในการเลี้ยงดูอบรมเด็กให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
- ให้เด็กได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและเพียงพอ
- ให้เด็กได้พักผ่อนนอนหลับออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเด็ก
- พาไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนกับแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและพิการด้วยโรคต่างๆ
- ช่วยฝึกหัดให้กำลังใจเด็กเมื่อเริ่ม คลาน นั่ง ยืน เดิน และพูด
- พ่อแม่ควรมีความเข้าใจกัน ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นมั่นคงภายในบ้าน แสดงความรักความเอาใจใส่ความห่วงใยในตัวลูก ให้ลูกได้รับรู้อยู่เสมอให้เขามั่นใจว่าเขาเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าคนหนึ่งในครอบครัว
- ช่วยให้เด็กเติบโต มีอารมณ์มั่นคงโดยการอบรมสั่งสอนลูกอย่างมีเหตุผลมีวินัยที่ดี แต่ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป
- ช่วยให้เด็กเข้ากับคนอื่นในสังคมได้ดีโดย
- สนับสนุนให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
- ให้ความรู้และประสบการณ์โดยการพูดคุย ตอบคำถาม พาไปเที่ยวเมื่อมีโอกาส
- ส่งเสริมสิ่งที่ดีในตัวลูก อย่าทำให้เกิดปมด้อยโดยการนำไปเปรียบเทียบกับเด็กอื่นๆ
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกได้ทำตามในทุกๆ เรื่อง
- ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความนิ่มนวล เข้าใจความรู้สึกของเด็ก เข้าใจความต้องการของเด็ก จะช่วยให้เกิดสัมพันธภาพอันดีต่อกัน
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก