ผู้ป่วยโรคเบาหวานหากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทและหลอดเลือดส่วนปลาย ที่ทำให้เส้นประสาทเท้าเสื่อม ส่งผลต่อการรับความรู้สึก และการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังตามมา และอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การรักษาด้วยการตัดเท้าหรือตัดขาในที่สุด
สารบัญ
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้าเกิดจากอะไร
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้ามีอาการอย่างไร
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เส้นประสาท
- ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลที่เท้า
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้า ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เท้าอะไรบ้าง
- หลักการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
- ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้าเกิดจากอะไร
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้า เป็นลักษณะอาการที่ปรากฏขึ้นที่เท้า เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่มาจากโรคเบาหวาน เกิดจาก 2 สาเหตุ หลักๆ คือ
- การทำลายระบบประสาทและหลอดเลือดส่วนปลาย จนทำให้เส้นประสาทเท้าทำงานได้ผิดปกติ ส่งผลต่อการรับความรู้สึก และการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในเท้า การรับความรู้สึก ร้อน เย็น เจ็บ ได้ลดลง หรือไม่รู้สึก เช่น เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น จะไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อตรวจดูจึงพบว่าเป็นแผลเรื้อรัง ทำให้แผลหายยาก หรือติดเชื้อไปแล้ว นอกจากนี้ยังทำให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ในเท้าทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทำให้เท้าผิดรูป ซึ่งจะทำให้การลงน้ำหนักที่เท้าไม่กระจายเหมือนปกติ มีการลงน้ำหนักที่จุดใดจุดหนึ่งในเท้ามากกว่าปกติ ทำให้เกิดแผล หนังแข็งๆ และเจ็บได้
- หลอดเลือดแดงตีบหรือเสื่อม ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงเท้าทำงานได้ลดลง ส่งผลให้ปลายเท้าคล้ำ ดำ เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง เมื่อเป็นแผล แผลจะหายช้า และเกิดแผลติดเชื้อได้ง่าย
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้ามีอาการอย่างไร
ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้าทั้งสองข้าง หรือ บางรายอาจมีอาการปวดแปลบๆ คล้ายเข็มตำบริเวณเท้า และปวดเหมือนรู้สึกเย็นจัดที่บริเวณปลายเท้า ส่วนใหญ่มักมีอาการตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ถ้าเป็นรุนแรงก็อาจมีอาการทั้งกลางวันและกลางคืน สีผิวเปลี่ยน อาจซีดลง บวมแดง หรือคล้ำขึ้นก็ได้ ปลายเท้าคล้ำ หรือดำ เท้าบวม
โดยอาการที่มักพบบ่อย คือ อาการชา โดยเริ่มที่บริเวณเท้าทั้งสองข้างก่อน หลังจากนั้นจะกระจายไปถึงหัวเข่า และไปที่ปลายมือทั้งสองข้าง อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ความรุนแรงของอาการชามีตั้งแต่อาการน้อยมากๆ คือ ไม่รู้สึกว่าชา ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์ ไปจนถึงอาการรุนแรง คือ ชามากจนไม่รู้สึกสัมผัส ซึ่งในบางรายอาจมีปัญหาต่อการเดินและการทรงตัว ทำให้หกล้มได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เส้นประสาท
- ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี และเป็นเบาหวานมานาน
- อายุมาก
- ความดันโลหิตสูง
- อ้วน
- ไขมันในเลือดสูง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลที่เท้า
- ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี
- มีภาวะแทรกซ้อนที่ปลายประสาทจากเบาหวาน
- สูบบุหรี่
- เท้าผิดรูป
- เท้ามีหนังหนาด้าน หรือตาปลา
- หลอดเลือดส่วนปลายที่ขาตีบ
- ประวัติเคยมีแผลที่เท้า หรือถูกตัดขา หรือ เท้ามาก่อน
- มีจอตาผิดปกติจากเบาหวาน หรือสายตาเสื่อม
- มีภาวะแทรกซ้อนที่ไตจากเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้า ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เท้าอะไรบ้าง
เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เท้า จะทำให้พบกับปัญหาต่างๆ ดังนี้
- เกิดแผลเบาหวาน แผลเรื้อรังหายช้า
- หนังหนา เกิดหนังแข็งๆ ที่ฝ่าเท้า
- ผิวแห้ง ผิวแตก
- เล็บขบ ในผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นปัญหาแผลเรื้อรังได้
- เชื้อราที่เท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกเล็บ ง่ามนิ้วเท้า จะมีอาการคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังแตก
- นิ้วเท้าผิดรูป เกิดจากกล้ามเนื้อเล็กๆ ในเท้าทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทำให้นิ้วเท้าผิดรูป
หลักการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
- ทำความสะอาดเท้า และเช็ดเท้าให้แห้งทันที
- สำรวจเท้า และซอกนิ้วเท้า เพื่อดูว่ามีผิวหนังแข็ง ตาปลา แผล หรือการเกิดเชื้อรา หากมีปัญหาทางสายตา ควรให้ญาติช่วยตรวจ
- หากผิวแห้งควรใช้ครีมทาบำรุง แต่ไม่ควรทาที่ซอกนิ้ว เพราะจะทำให้อับชื้น
- หากต้องแช่เท้าในน้ำร้อน ควรทดสอบอุณหภูมิก่อน โดยใช้ข้อศอกทดสอบระดับความร้อนก่อน
- หากมีอาการเท้าเย็นตอนกลางคืน ให้สวมถุงเท้า
- สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะสมกับรูปเท้า โดยสวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า
- ตรวจดูรองเท้าทั้งภายในและภายนอกก่อนใช้ทุกครั้ง
- ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังไม่เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น หรือเริ่มมีโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่เริ่มมีภาวะเสี่ยง ควรมาพบแพทย์ประเมินอาการ พร้อมทั้งแนะนำการดูแลของคุณเท้าอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันและช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลที่เท้าได้ ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ฟรีได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม