รากฟันเทียม ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญหายไป
ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม
เมื่อสูญเสียฟันธรรมชาติไป การใส่ฟันปลอมเพื่อทดแทนช่องว่างนั้นสามารถทำได้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกลับพบปัญหาเกิดการหลวมของฟันปลอมขึ้น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากที่กระดูกรองรับรากฟันได้ละลายไป ทำให้เกิดการยุบตัวของสันเหงือก ฟันปลอมจึงไม่มีความพอดี ดังนั้นการใส่รากฟันเทียมจึงช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูกรองรับรากฟันได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มการยึดเกาะให้กับฟันปลอม รวมทั้งไม่ต้องกรอฟันข้างเคียงช่องว่างที่ถอนฟันออกไป จึงไม่รบกวนและไม่สูญเสียโครงสร้างฟันธรรมชาติเลยแม้แต่นิดเดียว สามารถประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการยึดอยู่ของฟันปลอมถอดได้บางประเภทในผู้ที่ไม่เหลือฟันในช่องปากเลย มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการบดเคี้ยว ทำความสะอาดง่ายเหมือนฟันธรรมชาติ ช่วยเสริมความมั่นใจด้วยรอยยิ้มที่โดดเด่น
รากฟันเทียมคืออะไร
รากฟันเทียม หรือรากเทียม (Dental implant) คือ วัสดุที่ทำจากไทเทเนียมที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ทำให้เข้ากับร่างกายของมนุษย์ได้ รูปร่างคล้ายสกรูน็อต ใส่เข้าไปยึดกับกระดูกขากรรไกร เพื่อทดแทนรากฟันธรรมชาติของฟันที่สูญเสียไป รากฟันเทียมจะทำหน้าที่แทนรากฟันธรรมชาติเพื่อรองรับ การทำทันตกรรมฟันปลอมทั้งชนิดถอดได้และชนิดติดแน่นเพื่อช่วยให้ฟันปลอมยึดติดได้ดี การครอบฟัน หรือ สะพานฟัน ที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งการใส่รากฟันเทียมถือว่าเป็นการรักษาที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน
ใส่รากฟันเทียมเพื่ออะไร
การใส่รากฟันเทียมนั้น เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่บาดเจ็บจากฟันผุ โรคเหงือก การถอนฟัน อุบัติเหตุทำให้สูญเสียฟัน หรือการสูญเสียฟันที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ (ฟันหายไป) และหากมีการสูญเสียฟันจำนวนหลายซี่ ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยและฝังรากฟันเทียมจำนวนหลายชิ้นเพื่อเป็นฐานรองรับสะพานฟันหรือฟันปลอมแบบถอดได้
ประเภทของการใส่รากฟันเทียม
การใส่รากฟันเทียมสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
- การฝังรากฟันเทียมแบบทั่วไป หรือ แบบดั้งเดิม (Conventional Implant) โดยหลังจากถอนฟัน แล้วจะรอ 2-3 เดือน เพื่อให้กระดูกที่ถอนฟันไปมีการหายที่สมบูรณ์ แล้วค่อยใส่รากเทียมและรอให้เกาะกับรากฟันเทียมโดยสมบูรณ์ก่อน เมื่อกระดูกยึดติดกับพื้นผิวรากเทียมแล้ว ค่อยทำครอบฟันบนรากฟันเทียม
- การฝังรากฟันเทียมทันทีหลังจากถอนฟัน (Immediate implant) เพื่อให้ผู้ป่วยลดการผ่าตัด และความบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น โดยหลังจากถอนฟันแล้วทำการใส่รากฟันเทียมได้เลย หลังจากฝังรากฟันเทียมเรียบร้อยแล้ว รอ 2-3 เดือน เพื่อให้กระดูกยึดเกาะกับรากฟันเทียมอย่างดีก่อน จึงทำการครอบฟัน และใส่ฟันปลอมตัวจริงบนรากฟันเทียม เหมาะกับ ฟันหน้า หรือ ฟันหลัง ที่มีกระดูกที่พอเพียง
- การใส่รากฟันเทียม ร่วมกับการทำครอบฟันทันที (Immediate loaded implant) เป็นการประหยัดเวลาการฝังรากเทียมและการใส่ครอบฟันเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีฟันใช้ขณะรอรากเทียมยึดติดกับกระดูก
การรักษาด้วยรากฟันเทียมเหมาะกับใคร
- ผู้ที่สูญเสียฟันแท้ไป และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ฟันแตกหักหรือฟันบิ่น โดยที่ทันตแพทย์แนะนำว่าควรถอนฟันซี่นั้นออก ก็สามารถทำรากฟันเทียมทดแทนฟันที่สูญเสียไป
- ผู้ที่ไม่ต้องการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้
- ผู้ที่ไม่ต้องการกรอฟันเพื่อทำสะพานฟันติดแน่น
- ผู้ที่ต้องการให้ฟันดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด
- ผู้ที่ต้องการยิ้มและเสริมสร้างความมั่นใจ
- ผู้ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารให้ดีขึ้น
- ผู้ที่ต้องการทดแทนฟันที่ไม่แข็งแรง และไม่สามารถทำหน้าที่เป็นฟันหลักยึดให้กับฟันเทียมชนิดอื่นๆ
ข้อจำกัดในการทำรากฟันเทียม
ผู้ที่ต้องการทำรากฟันเทียมควรประเมินตนเองก่อนว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ หรือหากไม่แน่ใจสามารถพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียดก่อนตัดสินใจทำรากฟันเทียม โดยข้อจำกัดมีดังนี้
- ผู้ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี เพราะ กระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- สตรีตั้งครรภ์ ควรรอให้คลอดบุตรก่อนจึงสามารถทำรากฟันเทียมได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับการควบคุม เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเสี่ยงต่อการที่บาดแผลหายช้า อักเสบ และติดเชื้อได้
- ผู้ที่ต้องได้รับการฉายแสงรักษามะเร็งบริเวณใบหน้าและขากรรไกร
- ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน หรือมีภาวะกระดูกไม่แข็งแรง
- ผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ควรได้รับการรักษาเพิ่มเติมก่อนทำรากฟันเทียม
- ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ป่วยจิตเภท หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และผู้ที่ไม่สามารถดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเองได้
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัดและที่เลิกบุหรี่ไม่ได้
การเตรียมตัวก่อนการทำรากฟันเทียม
เข้ารับการตรวจและประเมินจากทันตแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการรักษา เช่น จำนวนของรากฟันเทียมที่ใส่ ต้องปลูกกระดูกร่วมด้วยหรือไม่ หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้ทันตแพทย์รับทราบ เพื่อวางแผนประเมินก่อนทำรากฟันเทียม แพทย์ทำการถ่ายภาพ X-Ray และ CT Scan และ พิมพ์ปากเพื่อวางแผนการรักษา นอกจากนั้นการดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดีเป็นสิ่งสำคัญที่คนไข้ควรปฏิบัติก่อนทำการเข้ารับการรักษา
ขั้นตอนการรักษาโดยการใส่รากฟันเทียม
หลังจากทันตแพทย์จะตรวจสภาพช่องปากและเตรียมสภาพช่องปากให้เรียบร้อย จะดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
- ทันตแพทย์ทำการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมในตำแหน่งที่เหมาะสม จะใช้เวลาการทำประมาณ 1-2 ชั่วโมง ในบางกรณีอาจมีการเสริมกระดูกก่อน
- รอให้กระดูกยึดกับรากฟันเทียมซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน
- เมื่อกระดูกยึดกับรากฟันเทียมดีแล้ว ทันตแพทย์จะพิมพ์ปากเพื่อทำสะพานฟัน ครอบฟัน หรือฟันปลอม
- จากนั้นทำการใส่เดือยฟัน และทำการใส่ สะพานฟัน ครอบฟัน หรือฟันปลอม
ระยะเวลาในการทำรากฟันเทียม
สำหรับระยะเวลาในการทำรากฟันเทียมนั้นจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2-4 เดือน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณและคุณภาพของกระดูกขากรรไกร ที่อาจจะต้องมีการเสริมกระดูกให้แข็งแรง จำนวนฟันที่ต้องการทำรากเทียม เป็นต้น
ข้อดีของการใส่รากฟันเทียม
- ฟันเทียมที่ดูเป็นธรรมชาติ โดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นคนออกแบบรูปร่างและสีของครอบฟันบนรากเทียมให้มีความใกล้เคียงกับสีของฟันธรรมชาติมากที่สุด
- การใส่ฟันรากเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน มีความคงทนมาก โดยปกติแล้วการฝังรากฟันจะอยู่ได้ 20 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรากฟันและการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย รวมไปถึงการพบทันตแพทย์เป็นประจำตามกำหนดด้วย
- มอบประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
- สามารถรับประทานอาหารได้ทุกประเภท โดยไม่จำเป็นต้องกังวลเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น
- สามารถช่วยเรื่องการพูดออกเสียง
- ช่วยลดการละลายของสันกระดูกที่รองรับฟันปลอม
- สามารถทำความสะอาดฟันได้ง่าย
- การทำรากเทียมไม่ส่งผลข้างเคียงต่อฟันที่เหลืออยู่
แม้ว่ารากฟันเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และคงทนแข็งแรง แต่สามารถเกิดโรคเหงือกอักเสบได้หากดูแลได้ไม่ดี การดูแลรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญสามารถทำได้เหมือนการดูแลฟันธรรมชาติ โดยใช้ขนแปรงแบบอ่อนนุ่มขจัดคราบเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ ซึ่งคราบจุลินทรีย์อาจเป็นสาเหตุให้รากฟันเทียมหลวมได้ นอกจากนี้ ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน และควรเข้ารับการตรวจรากฟันเทียมกับทันตแพทย์เป็นประจำ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทันตกรรม