เบาหวาน (Diabetes) ภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพร่างกาย

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม (เบาหวาน)

บทความโดย : พญ. สุภัทรา ปวรางกูร

เบาหวาน

เบาหวาน (Diabetes Mellitus) เป็นโรคที่หลายคนคุ้นหูและมักพบได้ในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มพบมากขึ้นในคนวัยทำงานและวัยรุ่น หลายคนอาจมองว่าโรคนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกายส่งผลโดยตรงต่อความเสี่ยงของโรคนี้ ซึ่งโรคเบาหวานไม่ได้เป็นเพียงแค่โรคหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วรักษาหายได้ง่าย ๆ แต่มันเป็นโรคที่ต้องอยู่กับเราตลอดชีวิตหากไม่ได้รับการควบคุมที่ดี ดังนั้น การมีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน อาการ สาเหตุ วิธีป้องกันนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราป้องกันตัวเอง แต่ยังช่วยให้เราดูแลและให้คำแนะนำการรักษากับคนที่เรารักได้อย่างถูกต้อง


โรคเบาหวาน คืออะไร?


เบาหวาน คืออะไร เบาหวาน คืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับ น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (ข้าว,แป้ง) โปรตีนและไขมัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน ชอบรับประทานหวาน ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเบาหวานเป็นภัยเงียบที่คุกคามต่อสุขภาพ ก่อเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนขึ้นอย่างที่คุณไม่รู้ตัว

> กลับสารบัญ


อาการของโรคเบาหวาน

  • ปัสสาวะบ่อยและมาก หรืออาจเกิดมดขึ้นปัสสาวะ
  • กระหายน้ำ และดื่มน้ำบ่อยครั้ง
  • กินจุ หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจซึมลง หรือไม่รู้สึกตัว
  • ตาพร่ามัว
  • เป็นแผลหรือฝีง่ายรักษาหายยาก มีผื่นคันตามผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องมาจากเชื้อรา
  • ปลายมือ ปลายเท้าชา
  • สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง โดยเฉพาะในเพศชาย
  • ไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในรายที่เริ่มมีอาการไม่นาน มักพบบ่อยได้โดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี เพราะฉะนั้นคนทั่วไปเมื่ออายุเกิน 35 ปี จึงควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อการค้นพบโรคต่าง ๆ ล่วงหน้า และเตรียมพร้อมในการรักษา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น โรคตา โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


โรคเบาหวานแบ่งออกเป็นกี่ชนิด?

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลัก ได้แก่

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ เกิดจากมีภูมิต้านทานตนเองมาทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อนทำให้ผลิตอินซูลินไม่ได้จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่วนใหญ่พบในเด็ก และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอินซูลิน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมกับมีความบกพร่องของการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
  • โรค เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อการทำงานของอินซูลิน ส่วนใหญ่มักหายไปหลังคลอด แต่จะเพิ่มความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาได้
  • โรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุเฉพาะเจาะจง เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

วิธีเช็กว่าตัวเองเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่?

หากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่ คุณสามารถสังเกตได้ ดังนี้

สังเกตจากอาการโรคเบาหวาน โดยอาการคนเป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน กระหายน้ำมากกว่าปกติ หิวบ่อยและกินมากขึ้นแต่ยังน้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย คันผิวหนัง หรือผิวแห้งผิดปกติ ชาปลายมือปลายเท้า (เส้นประสาทถูกทำลาย) หากมีอาการเหล่านี้หลายข้อ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีอาการแสดง มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีภาวะอ้วน (BMI มากกว่า 25) รอบเอวเกินมาตรฐาน (ผู้ชาย >90 ซม., ผู้หญิง >80 ซม.) มีญาติสายตรง อาทิ บิดา มารดา พี่น้องสายเลือดเดียวกันเป็นเบาหวาน มีภาวะความดันโลหิตสูง (140/90mmHg หรือมากกว่า) หรือมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น เอช ดี แอล (ไขมันดี) มีค่า 38 มก.% หรือต่ำกว่า ไตรกลีเซอไรด์มีค่า 250 มก.% หรือสูงกว่า รวมไปถึงผู้ที่ไม่มีกิจกรรมสุขภาพ หรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ ผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำที่รังไข่ โดยบุคคลเหล่านี้ควรได้รับการตรวจสุขภาพคัดกรองโรคเบาหวาน

> กลับสารบัญ


การวินิจฉัยจากอาการโรคเบาหวาน

โดยใช้วิธีการตรวจเบาหวาน วัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ

  • กรณีเกิดอาการชัดเจน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมาก อ่อนเพลีย สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ทันทีโดยไม่ต้องงดอาหาร ถ้าได้ ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • กรณีไม่มีอาการ ให้งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืน (แต่จิบน้ำเปล่าได้) 8-12 ชม. ก่อนมาตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของวันรุ่งขึ้น หากได้ผลมากกว่า 126 มก/ดล ขึ้นไป สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • ตรวจโดยการดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วเจาะเลือดหลังดื่ม 2 ชั่วโมง ถ้าได้ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • ตรวจน้ำตาลสะสม HbA1c ≥ 6.5 %
หมายเหตุ: ค่าปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ปัจจุบันกำหนดไว้ดังนี้ เจาะก่อนอาหารเช้า ไม่เกิน 100 มก/ ดล หรือเจาะเลือดใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม ไม่เกิน 140 มก/ดล

> กลับสารบัญ


วิธีการรักษาโรคเบาหวาน


ศูนย์อายุรกรรม (เบาหวาน) ศูนย์อายุรกรรม (เบาหวาน)

การรักษาโรคเบาหวานประกอบไปด้วย การควบคุมอาหาร โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ถูกต้องและต่อเนื่อง กินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ เลี่ยงอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง โดยกำหนดจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายสมควรได้รับในแต่ละวัน รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที ความถี่ในการออกกำลังกายควรเป็น 3-5 วันต่อสัปดาห์ รวมให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยเริ่มต้นควรทำวันเว้นวัน หรือ 2-3 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ศูนย์อายุรกรรม (เบาหวาน) โรงพยาบาลนครธน มีแนวทางการรักษาโรคด้วยยาเบาหวานชนิดรับประทาน การฉีดยาจะมีหลายชนิด เช่น ฉีดยาอินซูลิน และ GLP1RA แต่ละชนิดจะมีระยะเวลาที่ออกฤทธิ์ เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้มีค่าใกล้เคียงกับระดับปกติอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้การพิจารณาว่าผู้ป่วยจะได้รับยาประเภทใด จะเป็นดุลยพินิจของแพทย์ ชนิดของเบาหวานที่เป็นร่วมด้วย

> กลับสารบัญ


โรคแทรกซ้อนจากการเป็นเบาหวาน

โรคแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มักจะพบในรายที่รับยามากเกินไปหรือรับยาเท่าเดิม แต่ไม่ได้รับประทานอาหารตามปกติ เช่น ขณะเป็นไข้ ท้องเสีย
  • ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น ความไม่รู้สึกตัว ซึ่งมีทั้งชนิดที่มีกรดคีโตนคั่งค้างในกระแสโลหิตหรือไม่มีกรดคีโตนคั่งอยู่ก็ตาม
  • ภาวะการติดเชื้อ

โรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง

โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดขนาดเล็ก

  • โรคแทรกซ้อนทางตา เบาหวานขึ้นตา ทำให้มีการทำลายของหลอดเลือดในจอภาพ เกิดอาการตามัวจนถึงตาบอด ได้อย่าง กะทันหัน
  • โรคแทรกซ้อนทางไต ทำให้มีการรั่วของไข่ขาวในปัสสาวะส่งผลต่อไตเสื่อมลง จนถึงขั้นไตวายและเสียชีวิตได้ โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท ทำให้มีการเสื่อมทั้งระบบประสาททั่วไป และระบบประสาทอัตโนมัติก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ มากมาย เช่น ชาตามปลายมือ ปลายเท้า หรือปวดแสบปวดร้อน กล้ามเนื้อขาลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง สุขภาพเท้าบกพร่อง เกิดเท้าเบาหวาน จนนำไปสู่การตัดอวัยวะส่วนนั้น ๆ และพิการในที่สุด

โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดขนาดใหญ่

  • หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
  • หลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดอาการหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เช่น เจ็บแน่นหน้าอกกะทันหัน หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
  • หลอดเลือดขาตีบตัน เกิดอาการปวดขาเวลาเดิน เพราะเลือดไปเลี้ยงขาไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อร่วมกับโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท จะทำให้เท้าเป็นแผลง่าย หายยาก เป็นบ่อเกิดของการอักเสบติดเชื้อที่รุนแรง และมีเนื้อตายจนเป็นเหตุให้ต้องถูกตัดขา หรือสูญเสียอวัยวะ

> กลับสารบัญ


เบาหวาน ควบคุมได้เพียงเริ่มต้นดูแลสุขภาพ

เบาหวาน ถึงแม้จะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพ การเข้าใจถึงต้นเหตุของโรค วิธีการควบคุมโรค และการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นกุญแจสำคัญในการมีชีวิตที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ศูนย์อายุรกรรม (เบาหวาน) โรงพยาบาลนครธน ให้บริการทั้งตรวจวินิจฉัย รักษา และการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม แบบองค์รวม ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชา ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญด้านโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


พญ.สุภัทรา ปวรางกูร พญ.สุภัทรา ปวรางกูร

พญ.สุภัทรา ปวรางกูร
อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
ศูนย์อายุรกรรม (เบาหวาน)

นัดหมายแพทย์

ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย