รู้จักให้มากขึ้นกับ โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านภูมิแพ้, ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. วราลี ผดุงพรรค
โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนังอย่างเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มีแนวโน้มพบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยโรคนี้มักพบบ่อยที่สุดในเด็ก เนื่องจากมีผิวหนังที่ค่อนข้างไวต่อสิ่งกระตุ้น แต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ลักษณะของโรคที่สำคัญ คือ ผิวจะแห้ง คัน บางรายอาจจะเป็นขุยหรือผื่นแดง ถ้าเป็นมานานจะเป็นผื่นหนาแตกคัน บางรายเกาจนมีเลือดไหลซิบๆ หากพบว่าเด็กมีผื่นคันเป็นๆ หายๆ จนรบกวนชีวิตประจำวัน อย่านิ่งนอนใจ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี
อาการผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ทำให้ผิวแห้ง แดง มีผื่นตามบริเวณต่าง ๆ และมีอาการคันอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยตรง แต่อาจรักษาได้โดยบรรเทาอาการ และป้องกันอาการลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ลักษณะผื่นจะแตกต่างกันตามวัยดังนี้
- วัยทารก สามารถเกิดตั้งแต่วัยทารก ผื่นมักขึ้นบริเวณแก้ม บริเวณด้านหลังแขนขา ลักษณะของผื่นเป็นได้ตั้งแต่แห้งเป็นขุย ผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
- วัยเด็ก ลักษณะผื่นจะคล้ายวัยทารกแต่ถ้าเป็นมานานผื่นจะเริ่มเป็นปื้นหนา โดยเฉพาะที่คอ ข้อพับแขน ข้อพับขา หลัง จะคันมากบางรายเกาจนมีเลือดออกได้
- วัยผู้ใหญ่ ผื่นคล้ายวัยเด็ก แต่จะหนาขึ้นถ้าเป็นมานาน แต่ในบางรายที่เป็นมากก็เป็นทั่วทั้งตัวได้
สาเหตุผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง
สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ และการแพ้สารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้ โรคผื่นแพ้ผิวหนังมักพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ ได้แก่ ภูมิแพ้อากาศ หอบหืด
สารก่อภูมิแพ้ ได้แก่
- สารก่อภูมิแพ้อากาศ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ขน หรือรังแคสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสร
- สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเล
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผื่นกำเริบ
- อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป ซึ่งเป็นผลทำให้มีเหงื่อ หรือผิวแห้ง
- การติดเชื้อ
- สารระคายเคืองผิวหนัง ได้แก่ สารเคมีผงซักฟอก ผ้าเนื้อหยาบ สบู่ หรือแป้งฝุ่นบางชนิด
- ความเครียด วิตกกังวล
- การได้รับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวข้างต้น
การรักษาผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการกำเริบดังกล่าวข้างต้น
- ดูแลผิวอย่าให้แห้ง ได้แก่ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น หรือร้อน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง เช่น สบู่เหลว ครีมหรือน้ำมันบำรุงผิวสำหรับผิวบอบบางแพ้ง่าย
- ถ้าออกกำลังกายมีเหงื่อออกแล้วผื่นกำเริบ ให้อาบน้ำหลังออกกำลังกาย ทาครีมบำรุงผิว ควรอยู่ในที่เย็นเพื่อไม่ให้เหงื่อออก
- ครีมบำรุงผิวควรทาเฉพาะหลังอาบน้ำเท่านั้น และทาหลังจากอาบน้ำเสร็จประมาณ 3 นาที แต่สามารถทาเพิ่มระหว่างวันได้ถ้าผิวแห้งคัน
- ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกาซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้
- การรักษาโดยการใช้ยาชนิดทาหรือกินควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะมีอาการเรื้อรังและเป็นๆ หายๆ แต่ส่วนใหญ่เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการดีขึ้นตามวัยเมื่อเติบโตขึ้น การดูแลรักษาผิวที่ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้อาการกำเริบ และการใช้ยาทาอย่างเหมาะสม จะทำให้คนไข้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีจนสามารถหายจากโรคนี้ไปได้
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านภูมิแพ้, ศูนย์สุขภาพเด็ก