รู้ทัน รักษาไว ปลอดภัยจาก “เส้นเลือดขอด”
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม
เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) เป็นภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวบวมออกมา และมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้ม เส้นเลือดขอดมักเป็นที่ขาหรือเท้า เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานจะส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น
อาการของเส้นเลือดขอด
ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดแรกเริ่มอาจสังเกตเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนัง โดยเห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา หรือปรากฏเป็นสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา จากนั้นจะมีอาการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่
- มีอาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา
- กล้ามเนื้อในขาส่วนล่างเป็นตะคริวหรือสั่นเป็นจังหวะ
- ขาส่วนล่างบวม แสบร้อน
- เมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานานจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น
- มีอาการคันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น
- มีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน
- มีอาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง
- เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอดที่ควรต้องได้รับการรักษา
ทั้งนี้เส้นเลือดขอดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ขา โดยเกิดได้ทั้งบริเวณน่องหรือด้านในของขา แต่บางครั้งเส้นเลือดขอดก็อาจเกิดขึ้นได้ในส่วนอื่นของร่างกายเช่นกัน เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก เป็นต้น
สาเหตุของเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดมักเกิดจากผนังหลอดเลือดและลิ้นควบคุมการไหลของเลือดที่อ่อนแอ เนื่องจากภายในหลอดเลือดจะมีลิ้นเล็ก ๆ คอยเปิดให้เลือดไหลผ่านแล้วปิดป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย โดยผนังหลอดเลือดที่บางครั้งอาจขยายตัวออกจนสูญเสียความยืดหยุ่น เป็นสาเหตุให้ลิ้นที่คอยเปิดปิดนี้อ่อนแอลง เมื่อลิ้นหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงทำให้เลือดรั่วออกมาและไหลย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย ส่งผลให้เลือดสะสมในหลอดเลือดและเกิดอาการบวมพองตามมานั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดขอด
- เพศหญิง เส้นเลือดขอดมีโอกาสเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยนักวิจัยชี้ว่าอาจมีสาเหตุจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ไปทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือดได้
- พันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอดจะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้
- อายุมาก เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็เริ่มที่จะหลวมและหย่อนตัวลง เป็นเหตุให้ลิ้นหลอดเลือดทำงานได้ไม่ดี
- น้ำหนักตัวมาก จะทำให้เกิดแรงดันบนหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการรั่วของเลือดยิ่งขึ้น
- อาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานาน ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอด เพราะเลือดจะไหลได้ยากขึ้นเมื่อยืนเป็นเวลานาน
- หญิงตั้งครรภ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก แต่จะนำไปสู่การตึงของหลอดเลือด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นยังสามารถทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัวจนลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้เช่นกัน
การรักษาเส้นเลือดขอด
เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอดก่อนรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ โดยใส่รัดขาไว้ตลอดวัน เพื่อช่วยบีบไล่ให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อขาพาเลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น ส่วนผู้ป่วยเส้นเลือดขอดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยตนเองหรือการใช้ถุงน่องรัดขา หรือมีอาการเส้นเลือดขอดที่รุนแรงกว่านั้น อาจได้รับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การฉีดยาเข้าหลอดเลือดที่ขอด
- การฉีดยาที่ทำให้เป็นลักษณะโฟมก่อนเข้าหลอดเลือดที่ขอด
- การผูกและดึงหลอดเลือดดำออก
- การผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก
- การผ่าตัดส่องกล้อง
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์
- การใช้สายสวนหลอดเลือดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือ Radio Frequency (RF)
การป้องกันเส้นเลือดขอด
สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดด้วยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงของกล้ามเนื้อ ที่มีปฏิบัติดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและใช้เกลือปรุงอาหารน้อย
- ควบคุมน้ำหนัก
- พักขาด้วยการยกขาขึ้นสูง
- หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงหรือถุงเท้ารัด ๆ
- เปลี่ยนท่าทางการนั่งและยืนอยู่เสมอ
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม