รู้เท่าทันภาวะรังไข่เสื่อม วางแผนก่อนมีครอบครัว
ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้, ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์
ปกติแล้วผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทองเมื่ออายุ 45-55 ปี และก่อนจะเข้าสู่วัยทองนั้นร่างกายจะมีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า เช่น การมีรอบเดือนห่าง มาน้อย ขาด หาย มีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อยไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น หากมีอาการต่อไปนี้ก่อนวัย 40 อาจเป็นสัญญาณของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ดังนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยว่ากำลังเข้าสู่ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด หรือวัยทองก่อนเวลาอันสมควรหรือไม่
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดคืออะไร
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency) คือ ภาวะที่รังไข่หยุดการทำงานก่อนอายุ 40 ปี หากรังไข่เสื่อม ก็จะไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ตามปกติ เกิดฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา ไข่ไม่ตก หรือ ไข่ตกแต่เป็นไข่ด้อยคุณภาพ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก นอกจากนี้เมื่อรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดเท่ากับว่า รังไข่จะไม่ตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมน Folliclular Stimulating Hormone (FSH) จากต่อมใต้สมองที่เป็นฮอร์โมนควบคุมให้รังไข่ทำงาน ก็จะส่งผลให้มีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อยไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน ผิวแห้ง กระดูกพรุน เหงื่อออกตอนกลางคืน เหมือนกับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
สาเหตุภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
การเกิดภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดนั้น มาจากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การถูกฉายแสง/รังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกรานในสตรี หรือการได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ ทำให้เกิดการทำลายเซลล์รังไข่ทำให้รังไข่ไม่ทำงาน
- การมีโรคที่ตัวรังไข่เอง เช่น ติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือการเป็นซีสต์รังไข่ทั้ง 2 ข้าง
- ความผิดปกติของโครโมโซม และพันธุกรรม ทำให้อวัยวะบางอย่างรวมถึงรังไข่ทำงานไม่ปกติหรือมีช่วงชีวิตทำงานสั้นกว่าปกติ เช่น ภาวะ Gonodal dysgenesis รังไข่ไม่เจริญเติบโต
- ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงานหลังจากการผ่าตัด อาจทำให้ปริมาณฟองไข่ลดลงจากการบาดเจ็บหรือตัดเอาเนื้อรังไข่ออกไป
- การติดเชื้อ เช่น คางทูม วัณโรค มาเลเรีย แต่พบได้น้อยมาก
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง การรับสารพิษยาฆ่าแมลง และโลหะหนักบางชนิด อาจจะเป็นพิษต่อเซลล์เนื้อเยื่อรังไข่ได้ เป็นต้น
สัญญาณอาการเตือนรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
ในระยะเริ่มต้นของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดจะไม่มีการแสดงอาการแต่อย่างใด แต่เมื่อไหร่ที่มีภาวะรังไข่เสื่อมมากขึ้นจะแสดงอาการดังนี้
- ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน ทิ้งช่วงนาน ปริมาณประจำเดือนลดลง และอาจไม่มีประจำเดือนเลย
- มีอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย ช่องคลอดแห้ง เจ็บแสบช่องคลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ ผิวแห้ง ผมร่วง เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- เมื่อประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน ทิ้งช่วงนาน ติดต่อกันกว่า 2-3 เดือน หรือประจำเดือนหมดก่อนอายุ 40 ปี
- เมื่อมีอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย โดยเฉพาะถ้าอาการเหล่านั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 35 และ 40 ปี และประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ผู้หญิงที่มีประวัติในครอบครัวหมดประจำเดือนเร็วผิดปกติ หรือภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- ผู้หญิงที่เคยรับการผ่าตัดรังไข่
- ผู้หญิงที่ได้รับการฉายแสง/รังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
รังไข่เสื่อมก่อนกำหนดส่งผลอย่างไรบ้าง
- ภาวะมีบุตรยาก เมื่อรังไข่เสื่อมก็จะหยุดทำงานจึงทำให้ไม่เกิดการตกไข่ หรืออาจจะมีการตกไข่บ้างในบางรอบเดือนแต่ไข่ไม่สมบูรณ์
- โรคกระดูกพรุน เมื่อรังไข่ไม่ทำงานร่างกายก็จะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีผลต่อการเจริญและความแข็งแรงกระดูก ทำให้เกิดโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกหักง่ายขึ้น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงมากกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ทำอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
แพทย์วินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้ดังนี้
- การตรวจร่างกาย และซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติอาการที่สำคัญว่าเกี่ยวข้องกับภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดหรือไม่
- การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน ได้แก่
- การตรวจฮอร์โมน AMH หรือ Anti-Mullerian Hormone ที่มีปริมาณสัมพันธ์กับจำนวนไข่ใบเล็ก ๆ (antral follicles) ในรังไข่ แพทย์จึงใช้ฮอร์โมนนี้ในการตรวจวัดปริมาณของไข่ในรังไข่ได้ หากระดับ AMH สูง แสดงว่าไข่มีปริมาณมาก ถ้าระดับค่า AMH ต่ำก็แปลว่าไข่เหลือในปริมาณน้อย
- การตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่ที่เรียกว่า ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) หากมีค่าสูงแสดงว่ารังไข่ไม่ทำงานแล้ว (FSH 10-20 mIU/ml คือ ภาวะเสี่ยงวัยทองก่อนวัยอันควร)
- การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือด หากพบว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ อาจเป็นข้อบ่งชี้ของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- อาจมีการตรวจการตั้งครรภ์ รวมทั้งการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ของการมีประจำเดือนผิดปกติ อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ โปรแลกติน เป็นต้น
แนวทางการรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- การให้ฮอร์โมนทดแทน โดยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดจะทำให้ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อบรรเทาอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ลดภาวะสมองเสื่อม
- รักษาภาวะมีบุตรยาก ผู้ที่ต้องการมีลูกอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยากระตุ้นไข่ หรือฮอร์โมนโกนาโดโทรปินช่วยทำให้มีการเจริญเติบโตของไข่ และตกไข่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือเด็กหลอดแก้ว เพื่อช่วยในการมีบุตรได้
เมื่อเป็นรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดดูแลตนเองอย่างไร
- รักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ผ่อนคลาย จัดการความเครียด
- รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามความเหมาะสมของสุขภาพร่างกาย
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
- รับประทานยาหรือใช้ยาต่าง ๆ ตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- มีการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอหรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ
อย่างไรก็ตามการดูแลตนเอง และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยป้องกันภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้ และหากใครกำลังกังวลว่าตนเองจะเข้าสู่ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดหรือไม่สามารถเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อขอคำปรึกษาและตรวจร่างกายได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร โทร 024509999 ต่อ 1159-1160
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้, ศูนย์สุขภาพสตรี