ส่องกล้องโพรงมดลูก ตรวจและรักษาตรงจุด ไม่ต้องทนเจ็บ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้

บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์

ส่องกล้องโพรงมดลูก ตรวจและรักษาตรงจุด ไม่ต้องทนเจ็บ

การส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นสภาพภายในโพรงมดลูกได้ดีที่สุด ในการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนในผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติทางนรีเวช เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เลือดออกในวัยหมดประจำเดือน และมีบุตรยาก รวมทั้งสามารถรักษาความผิดปกติที่มีต้นเหตุจากภายในโพรงมดลูกได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย ไร้แผล ช่วยให้การรักษาได้ผลดี


การส่องกล้องโพรงมดลูกเป็นอย่างไร

การส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นหัตถการทางการแพทย์โดยการใช้กล้องส่องผ่านปากมดลูกเพื่อเข้าไปดูพยาธิสภาพที่คอปากมดลูก และพยาธิสภาพในโพรงมดลูกโดยตรง หรือดูในบริเวณรูเปิดของท่อนำไข่เข้าสู่โพรงมดลูก มีข้อดีตรงที่แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพของโพรงมดลูกได้โดยตรง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยรายที่มีพยาธิสภาพอยู่กันเป็นกระจุก

โดยการตรวจด้วยวิธีนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยโรคในสตรีที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือสตรีที่มีปัญหาแท้งซ้ำซาก และยังสามารถให้การรักษาโรคไปพร้อมกันในครั้งเดียว เช่น การผ่าตัดติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อในโพรงมดลูกใช้ในการช่วยสุ่มตรวจชิ้นเนื้อ การตัดเนื้องอกมดลูก การตัดพังผืดภายในโพรงมดลูกที่อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือแผลเป็นมาก่อน รวมทั้งใช้ร่วมกับจี้ไฟฟ้าในการทำลายเนื้อเยื่อของโพรงมดลูก กรณีมีประจำเดือนมามาก เป็นต้น

ทั้งนี้การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก โดยทั่วไปแพทย์จะนิยมทำในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากประจำเดือนหมด เนื่องจากเป็นช่วงที่ผนังเยื่อบุในโพรงมดลูกจะบางที่สุด ง่ายต่อการมองเห็นรอยโรค ทำให้การรักษาทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

> กลับสารบัญ


ก่อนส่องกล้องโพรงมดลูก เตรียมตัวอย่างไร

ในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ดังนี้

  • ในบางกรณี แพทย์อาจให้ยาอมใต้ลิ้นเพื่อให้ปากมดลูกขยายตัวประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
  • เลือกช่วงเวลาตรวจที่ประจำเดือนหมดสนิทไปแล้ว 5 - 7 วัน และตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์
  • ในกรณีพยาธิสภาพมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจต้องนัดทำการผ่าตัดพยาธิสภาพในโพรงมดลูกในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนเข้ารับการรักษา อย่างน้อย 6 ชั่วโมง และเตรียมผ้าอนามัยมาด้วย

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ขั้นตอนส่องกล้องโพรงมดลูก

การตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจภายใน โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยขึ้นนอนที่ขาหยั่งเหมือนตรวจภายใน ใส่อุปกรณ์เพื่อให้เห็นปากมดลูก หลังจากนั้นแพทย์จะค่อย ๆ ส่องกล้องขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเข้าไปยังโพรงมดลูก เพื่อให้เห็นความผิดปกติภายในโพรงมดลูก โดยการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ในบางรายที่พบความผิดปกติ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา และวางแผนการรักษาต่อไป อาจใช้ระยะเวลาตรวจที่นานขึ้นได้

> กลับสารบัญ


ใครที่ควรมาตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ
  • ผู้หญิงที่ได้รับการตรวจอัลตราซาวด์มดลูกแล้วสงสัยว่ามีเนื้องอกหรือมีติ่งเนื้อภายในโพรงมดลูก
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูก
  • ผู้หญิงที่มีมดลูกผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก (Septate uterus)
  • ผู้หญิงที่มีภาวะแท้งบุตรซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีบุตรยากที่สงสัยสาเหตุจากความผิดปกติในโพรงมดลูก
  • ผู้หญิงที่มีประวัติมีประจำเดือนมาน้อยมากหรือไม่มีประจำเดือน
  • ผู้หญิงที่ใส่ห่วงอนามัยมานานและไม่สามารถดึงสายห่วงออกได้ตามปกติ
  • ผู้หญิงที่มีประจำเดือนออกมาก โดยไม่พบพยาธิสภาพจากการตรวจภายนอกมดลูก
  • ผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์หลังจากแท้งบุตรและได้รับการขูดมดลูก
  • ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนรุนแรงร่วมกับสงสัยว่ามีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก
  • ผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว และย้ายตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีไปแล้วตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป

> กลับสารบัญ


ข้อจำกัดในการส่องกล้องโพรงมดลูก

การตรวจรักษาด้วยการส่องกล้องโพรงมดลูก จะไม่ทำในกรณีต่อไปนี้

  • สตรีที่อยู่ในสภาวะการตั้งครรภ์
  • มีผู้ที่กำลังมีประจำเดือน
  • การอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง
  • การพบเชื้อมะเร็งปากมดลูก

> กลับสารบัญ



หากพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดมากหรือนานกว่าปกติ มีอาการปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ มีตกขาวเป็นหนองมีกลิ่นเหม็น และมีไข้สูง หนาวสั่น หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าเพิกเฉยหรือทนความเจ็บปวดไว้นานเกินจนกระทั่งลุกลามจนกลายเป็นเนื้อร้ายในโพรงมดลูกได้ ให้รีบเข้ามาปรึกษาสูตินารีแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และการรักษาที่ตรงจุดต่อไป สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลจากแพทย์ออนไลน์ได้เลย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย