หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อม อายุ 25 ก็เป็นได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล

หมอนรองกระดูกเสื่อม, โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

สัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม มีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย นั่นอาจไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ หากไม่ดูแลตัวเองและมีพฤติกรรมการใช้หลังแบบผิดๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะยิ่งทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมจนเคลื่อนได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังจากโรคนี้ เพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ และในหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงาน ช่วงอายุตั้งแต่ 25-40 ปี หากมีอาการดังกล่าว ควรเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อตรวจและรักษาอย่างตรงจุด


รู้จักโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากหมอนรองกระดูกเสื่อม

หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยคั่นกลางรอยต่อ ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละคู่โดยหมอนรองกระดูกนี้มีลักษณะยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้สันหลังเคลื่อนไหวได้

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Lumbar Disc Herniation) เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือเรียกสั้นๆ ว่า หมอนรองกระดูกเสื่อม เพราะเมื่ออายุมากขึ้นหมอนรองกระดูกซึ่งเป็นหนึ่งในข้อต่อของกระดูกสันหลังจะเริ่มเสื่อมตามอายุ โดยส่วนมากจะเริ่มเสื่อมในช่วงหนุ่มสาววัยทำงาน อายุตั้งแต่ 25-40 ปี ซึ่งบางคนเมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อม จะมีเนื้อเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกฉีกแยกจนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนออกมาและอาจกดทับเส้นประสาท ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังนำมาก่อนแล้วตามด้วยอาการปวดหลังร้าวลงขา และอาจมีอาการชา อ่อนแรง หรือขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย โดยอาการมักสัมพันธ์กับกิจกรรมและการใช้งานของหลัง

> กลับสารบัญ


ทำไมวัย 25+ เสี่ยงหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากหมอนรองกระดูกเสื่อม

ภาวะนี้เกิดจากตัวหมอนรองเกิดภาวะที่แห้งลง เสียความยืดหยุ่น สาเหตุการเกิดที่พบในผู้ที่มีอายุน้อยได้บ่อย ได้แก่ การใช้งานและกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น ยกของหนักผิดท่าบ่อยๆ การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน การขับรถนานๆ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุจนกระดูกสันหลังบาดเจ็บ และการสูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หมอนรองกระดูกสันหลังน้อยลง ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น และทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนได้

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

อาการหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากหมอนรองกระดูกเสื่อม

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม จะมีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย หรืออาจจะเคยยกของแล้วปวดหลังทันที มักปวดมากเวลาก้มหรือนั่ง หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งถ่าย หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาตามมาได้

> กลับสารบัญ


แนวทางการรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากหมอนรองกระดูกเสื่อม

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย โดยการรักษาแบ่งออกได้ดังนี้


การรักษาแบบประคับประคอง

จะเป็นการรักษาตามอาการโดยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ การฉีดยาเข้าช่องโพรงกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการปวดร้าวลงขา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก เพื่อยืดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง ใส่อุปกรณ์พยุงหลัง เหมาะสำหรับการเคลื่อนของกระดูกสันหลังในระดับที่ 1 และ 2 โดยส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการและยังไม่มีความผิดปกติของระบบประสาท


การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

จะใช้รักษาในกรณีที่รักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่เป็นผล หรือผู้ป่วยมีอาการของหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท เกิดอาการผิดปกติของระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ควบคุมปัสสาวะหรือการขับถ่ายไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อทำการรักษา ด้วยวิธีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดเพราะแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดธรรมดา มีแผลผ่าตัดเพียง 8 มม. มีความแม่นยำและปลอดภัย ผู้ป่วยจึงเสียเลือดน้อย และการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลดลงและฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม


> กลับสารบัญ



ทั้งนี้อาการปวดหลังและปวดขาเรื้อรังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากหมอนรองกระดูกเสื่อมนี้ แม้เพียงสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมาน และความวิตกกังวลให้ผู้ป่วย ก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะหากไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจนำไปสู่โรคที่มีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุให้ถึงกับอัมพาตได้ หากมีอาการดังกล่าวจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องและเลือกการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ฟรีได้เลย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย